คำถามนี้ไม่ได้กำลังจะชวนเชิญออกไปทานข้าวที่ไหนในตอนนี้ แต่เราจะชวนทุกคนพิจารณาที่มาของส่วนประกอบอาหารที่เราทานเป็นประจำในแต่ละมื้อว่าควรมีอะไร จากที่ไหน มารวมกันบ้าง ที่จะทำให้เรากินแล้วร่างกายสุขสมบูรณ์ดี คุณภาพชีวิตดี และสิ่งแวดล้อมดี
ในอดีตนุ๋นเคยทำงานเป็นพนักงานประจำไม่ต่างกับคนทั่วไป ไม่ได้ใส่ใจว่าควรกินอะไรแล้วดี เน้นความง่ายและสะดวกไว้ก่อน ไม่เคยตั้งคำถามกับสุขภาพเพราะ (ยัง) ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง ยกเว้นออฟฟิศซินโดรมที่ใครๆ ก็เป็นกัน กระทั่งวันหนึ่งเราย้ายกลับมาอยู่บ้านต่างจังหวัด เปลี่ยนวิถีจากสาวออฟฟิศมาทำเกษตร เลี้ยงไก่และปลูกผักกินเองบนวิถีเกษตรอินทรีย์ กว่า 4 ปี ผ่านไปบนความยึดมั่นด้าน“สุขภาพ” และ “ความมั่นคงทางอาหาร” ปลูกในสิ่งที่กิน กินในสิ่งที่ปลูก เรียนรู้ ดูแล และเคารพธรรมชาติ สิ่งที่ร่างกายได้ตอบแทนกลับมามันคุ้มมาก ออฟิศซินโดรมหายไป ร่างกายแข็งแรงขึ้น การทำงานในสวนไม่ต่างกับการเข้าฟิตเนส บรรยากาศบ้านคล้ายป่า มีอากาศบริสุทธิ์ แต่เดี๋ยว!! เราไม่ได้กำลังจะชวนให้ทุกคนลาออกจากงานประจำมาทำเกษตรอินทรีย์นะ เรากำลังจะบอกว่า การมีสุขภาพที่ดีมีความสัมพันธ์กับ 3 อา (อาหาร อากาศ อารมณ์) เราได้ทดลองแล้วและมีข้อสรุปมาแบ่งปันสำหรับเรื่องอาหาร ไม่ว่าจะเมนูใดในแต่ละวัน ต้มผัดแกงทอด ได้หมด เพียงแค่ให้ความสำคัญกับการกินที่รู้ “ที่มาของวัตถุดิบ” ก็มีโอกาสเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น
กินผักผลไม้ปลอดภัยตามฤดูกาล
ความปลอดภัยคือมาจากการเพาะปลูกแบบอินทรีย์ (ออร์แกนิค) หรือไร้สารพิษ เค้าไม่ใช้สารเคมีเลย ทั้งยาฆ่าหญ้า ยาคุมหญ้า ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมีและสารเคมีอื่นๆ ไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ตัดแต่งพันธุกรรม (GMOs) ผักผลไม้ปลอดภัยทำให้มะเร็ง เบาหวาน ความดัน ไม่ถามหา เพราะไม่แฝงมาด้วยสารเคมีที่ทำให้อวัยวะทำงานหนักเกินไปจนเสื่อม อีกอย่างที่น่าสนใจ.. ผักปลอดภัยมีคุณค่าและที่มาต่างจากผักปลอดสารนะคะ แปลงผักผลไม้ปลอดสารอนุญาตให้ใช้สารเคมีได้ในปริมาณที่กำหนด และเคล็ดลับการรับวิตามินและเส้นใยเข้าร่างกายที่สำคัญอีกหนึ่งข้อ นุ๋นเคยได้รับการถ่ายทอดมาจากคุณป้าว่า ผักดิบผักสดงดเสียดีกว่า บวกกับเราเองเคยพบพยาธิในแปลงผัก ลองคิดอีกหลายทีดูจะมีความจริง เมื่อเห็นชาวบ้านนิยมกินยอดพืชยืนต้นสดๆ แกล้มกับน้ำพริก เช่น ยอดมะตูมแขก ยอดมะกอก ส่วนผักใบที่มีลำต้นติดพื้นควรกินแบบปรุงสุก เพราะเสี่ยงกับไข่พยาธิและการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคจากมูลสัตว์ ควรกินพืชสมุนไพร/ผักที่มีสรรพคุณขับพยาธิเป็นประจำ เช่น กระเจี๊ยบเขียว คนทีสอ หากเราต้องการวิตามินจากพืช ให้เลือกทานจากผลไม้สดได้คุณประโยชน์ดีที่สุด ส่วนรสชาติของผัก-ผลไม้อินทรีย์นั้น ถ้าได้ลิ้มชิมรสแล้วรับรองจะติดใจ หวานละมุน เนื้อแน่น กรอบ รู้สึกสดชื่นขึ้นทันที
กินเนื้อสัตว์ นม ไข่ ปลอดภัย
สัตว์ต้องถูกเลี้ยงปล่อยเท่านั้น กินอาหารที่ผสมจากวัตถุดิบปลอดภัย คล้ายกับคนที่กินอาหารไม่มีสารเคมี ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขก็ห่างไกลโรคโดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ และฮอร์โมนในการเลี้ยง สาวๆ ทราบมั้ยคะว่าอาการเกี้ยวกราด ปวดท้องก่อนมีประจำเดือนนั้น มีผลมาจากฮอร์โมนที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ด้วยนะ หากใครเป็นอยู่ อยากให้ลองเปลี่ยนแหล่งที่มาของนมที่ดื่มและไข่ไก่ที่กิน เพราะนมและไข่เป็นผลผลิตจาก สัตว์เพศเมียเหมือนกันกับคนเรา ส่วนผู้ชายและหญิงที่ชอบทานเนื้อสัตว์จากการผลิตที่ไม่ปลอดภัย มีแนวโน้มเสี่ยงต่ออาการดื้อยาปฏิชีวนะที่แฝงมากับเนื้อสัตว์ด้วยเช่นกัน และอย่าลืมเลือกเนื้อสัตว์ที่ชำแหละอย่างถูกสุขลักษณะ ลดโอกาสปนเปื้อนเชื้อก่อโรค
กินเครื่องปรุงปลอดภัย
มาถึงจุดนี้แล้วลืมผงชูรสและซุปก้อนกันได้เลยค่ะ ถ้าหากใครได้วัตถุดิบจากแปลงเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์มาทำอาหารจะทราบดีว่าใช้เครื่องปรุงน้อยมาก ถ้าไม่ใช่อาหารรสหวาน แทบไม่ต้องเติมน้ำตาลเลย ถ้าเป็นอาหารรสเค็มใช้เพียงเกลือหรือน้ำปลาซีอิ๊วก็กลมกล่อม เพราะวัตถุดิบเหล่านั้น ล้วนมีรสชาติที่ดี มีรสอูมามิในตัวเอง ซีอิ๊วและน้ำปลาที่บอกว่าปลอดภัยต้องมาจากวัตถุดิบออร์แกนิคหรือจากแหล่งน้ำธรรมชาติ หมักร่วมกับเชื้อจุลินทรีย์สายพันธุ์เฉพาะและเกลือตามระยะเวลาที่เหมาะสม หอม อร่อย ปลอดภัย แบบนี้จะไม่มีสารก่อมะเร็ง (3-MCPD) แอบแฝงมาในขวด แถมยังไม่มีสารเติมแต่งสี กลิ่น รส สารกันบูด และผงชูรสรวมมาเป็นแพคเกจเดียวกัน
กินน้ำมันให้เหมาะสม
การผัดใช้น้ำมันรำข้าว การทอดใช้น้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันหมู อย่าลืมเลือกน้ำมันที่มาจากกระบวนการปลอดภัยด้วยนะ
กินให้ครบ 5 หมู่
มีสัดส่วนแป้งที่เหมาะกับการใช้พลังงานของตัวเอง ลงตัวที่สุดในอาหาร 1 มื้อ คือ ผัก 2 ส่วน แป้ง 1 ส่วน โปรตีน 1 ส่วน โดยกินผักและผลไม้อินทรีย์ให้ได้ถึง 400 กรัมต่อวัน แต่สำหรับบางคนที่ต้องใช้กำลังเยอะสามารถเพิ่มแป้งและโปรตีนได้ ส่วนสายขนมหวาน หากเผลอกินแป้งและน้ำตาลเยอะไปก็ต้องออกกำลังกาย ซึ่งกินในสัดส่วนที่เหมาะสมจะดีที่สุด
กินอาหารที่ปรุงเอง
ห้ามพลาดอาหารมื้อเช้า สำคัญต่อความปิ๊งปั๊งสดใหม่ในทุกวันของร่างกาย แบ่งเวลาปรุงอาหารเองในมื้อเช้าหรือถ้าอยากสะดวกสบายก็อยากให้อุดหนุนร้านอาหารที่เลือกใช้วัตถุดิบอย่างรู้ที่มาที่ไปในการเพาะปลูก
กินจุลินทรีย์ที่ดีอย่างสม่ำเสมอ
จุลินทรีย์ชนิดดีนี้คือ แลคติคแอซิดแบคทีเรีย มีมากในโยเกิร์ต และของหมักดอง ทั้งสองอย่างนี้เป็นศาสตร์การถนอมอาหารของคนสมัยโบราณ ที่ถูกไขปริศนาความดีงามของเชื้อจุลินทรีย์ในยุคปัจจุบันมาแล้วว่ามีคุณค่ามากมายต่อมนุษย์ จุลินทรีย์นี้ถ้ามีมากจะช่วยทำให้มนุษย์มีภูมิต้านทานที่ดี ส่งเสริมให้ลำไส้แข็งแรง หากลำไส้แปรปรวน ร่างกายเราจะแปรปรวนด้วย คนที่ไม่ค่อยขับถ่ายจะสังเกตเห็นผลได้ค่อนข้างชัดเจน เช่น ร้อนใน มีกลิ่นปาก กลิ่นตัว หงุดหงิดง่าย เราสามารถเลือกวัตถุดิบมาทำโยเกิร์ตเองได้ กินง่าย มีปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีสูง ช่วงเวลากินโยเกิร์ต (รสธรรมชาติ) ที่เหมาะสมควรเป็นหลังอาหารเช้าและกินผักผลไม้ในมื้อเช้านั้นด้วย
ปัจจุบันนี้เกษตรกรรุ่นใหม่มีความตื่นตัวในการทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น มีตลาดทางเลือกอาหารปลอดภัยหลายแห่ง เราสามารถถือตะกร้าพกกระเป๋าผ้าออกไปซื้อวัตถุดิบจากตลาดเหล่านี้มาใช้ปรุงอาหารเองได้ บางคนติดต่อสั่งซื้อเองจากเกษตรกรทางออนไลน์ และถ้าใครมีที่ดินอยากจะลองปลูกเองซักตั้ง ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี
ทั้งหมดนี้ใครจะเลือกเริ่มต้นที่ข้อใดก่อนหรือเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดยิ่งเป็นเรื่องน่ายินดีเข้าไปอีก เพราะเราอยากชวนให้ตระหนักถึงการ “กินอย่างปลอดภัย” ไว้ก่อน ปลอดภัยในชีวิตจะนำมาสู่ความปลอดภัยในทรัพย์สิน เพราะคุณจะเจ็บป่วยน้อยลง หาหมอน้อยลง โดยส่วนตัวนุ๋นไม่ได้พึ่งพายาแผนปัจจุบันมาเกือบห้าปีแล้ว เพราะเริ่มต้นดูแลสุขภาพ ที่อาหาร เรียนรู้การรักษาตัวเองเมื่อเจ็บป่วยด้วยอาหาร การเลือกกินตามแนวทางนี้เป็นการกินที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ถ้าใครทานอาหารจากวัตถุดิบตามที่บอกเล่ามาด้านบนจะเริ่มสังเกตผลได้ว่าอาหารปริมาณเท่ากันหนึ่งจานให้ความอิ่มท้องยาวนานขึ้นกว่าเดิม!!! อยากให้ทุกคนเริ่มลองเปลี่ยนที่มาอาหารเพื่อตัวเอง เริ่มทำวันละนิดนะคะ แล้วลองฟังเสียงจากร่างกาย เพราะเราทุกคนไม่สามารถเจ็บป่วยแทนกันได้ และหากหลายๆ คนร่วมกันเปลี่ยนการกินตั้งแต่วันนี้จะช่วยถนอมโลกใบนี้ให้ไม่ร้อนจนเกินไป เกษตรกรรายย่อยมีอาชีพมั่นคงในทั่วทุกพื้นที่ เราจะมีอาหารที่ดีและอากาศบริสุทธิ์สดใสแบ่งปันกัน เพราะการดูแลระบบนิเวศน์และความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดินเป็นหัวใจของการทำเกษตรอินทรีย์
ผู้เขียน
นุ๋น - ณัฐคนางค์ ปรีชาบริสุทธิ์กุล
เกษตรกร / ผู้ผลิตอาหารปลอดภัย /
ผู้ผลิตแชมพูและสบู่ธรรมชาติ / วิทยากรด้านการพึ่งพาตนเอง
Comments