คุณเห็นอะไรเวลาที่เราไปตลาด
ถ้าคุณเห็นอาชีพแม่ค้านั่นอาจจะเป็นสิ่งทั่วๆ ไปที่พบได้ในปัจจุบัน แต่ใครจะเคยคิดบ้างมั้ยว่า ตลาดเป็นที่ที่เราจะได้พบกัน แบ่งปันสิ่งที่มากกว่าเงินทอง สำหรับเราถ้าที่นี่คือครอบครัวขนาดใหญ่ ครัวจากคนปรุง คนปลูก คนทำ ที่นี่คือพื้นที่เพาะบ่มการกินในความคิดเรา ตลาดหลังเลิกเรียน โรงเรียนรุ่งอรุณ
ทุกวันพฤหัสบดี เด็กๆ จะมีนัดกันในครัวกว้างใหญ่แห่งนี้ ด้วยระบบการจัดการที่ไม่ต้องสร้างมาตรฐานอะไรมากมายนัก เพียงแค่ใช้ใจและความห่วงใยที่มีต่อลูกหลาน ตลาดนัดเย็นวันพฤหัสจึงเป็นแหล่งรวมความสนุกและความสบายใจที่เราสามารถปล่อยให้เด็กๆ ไปซื้อขนมและอาหารหลังเลิกเรียนเพื่อแก้หิวก่อนกลับบ้าน
ที่นี่มีอะไร ที่นี่มีขนมและของกินพื้นๆ ที่ไม่ได้มีชื่อเมนูยั่วยวนใจหรือวิลิศมาหราอะไรนัก น้ำมะพร้าวสดๆจากลุงวิทยา พัฟย่าง น้ำผลไม้คั้นสดๆในขวดแก้ว ไอศครีมจากผลไม้อินทรีย์ กับข้าวจากวัตถุดิบที่รู้ที่มาว่าปลอดสารพิษ เพราะอะไรทำไมตลาดหลังเลิกเรียนจึงถูกใส่ใจมากขนาดนี้
คำตอบของเรื่องนี้ไม่ได้ยากจนเกินไปนัก การกินนับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ทางโรงเรียนให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นโรงเรียนทางเลือกอันดับต้นๆ ของกรุงเทพมหาครแล้ว การทำอาหารยังถูกบรรจุอยู่ในภารกิจหลักเป็นกิจวัตรของนักเรียน ใช่แล้วค่ะ นักเรียนที่นี่ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 เขาต้องทำอาหารกลางวันร่วมกับครูเพื่อรับประทานกันเองจากวัตถุดิบอินทรีย์ตามฤดูกาล ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าอาหารที่ถูกอนุญาตให้เข้ามาขายในบริเวณโรงเรียนจึงเป็นอาหารที่มั่นใจได้ เพราะนอกจากการคัดกรองจากทางโรงเรียนแล้ว คุณภาพจากหน่วยคัดกรองจากผู้ปกครองที่นี่จัดว่าเข้มข้นเช่นกัน
ตลาดนัดวันพฤหัสแห่งนี้ จึงกลายเป็นตลาด ที่เราเดินกินได้อย่างสบายใจที่สุดแห่งหนึ่ง ทำไมน่ะเหรอ ทุกร้านค้าที่เราแวะเวียนไปชิม เราสามารถรู้ที่มาของวัตถุดิบ เช่น
ร้านมะพร้าวลุงวิทยา ที่ขับรถมาไกลจากนครปฐม ทุกวันพฤหัส เฉาะมะพร้าวน้ำหอมสดๆ และเสียบหลอดต้นอ้อ ลุงวิทยามักจะขอเศษขยะสดที่เกิดขึ้นจากตลาดกลับบ้านทุกวัน เพราะลุงบอกว่าขยะพวกนี้เป็นปุ๋ยชั้นดี และเป็นขยะที่เกิดจากเศษอาหารอินทรีย์เช่นกัน ทำให้พอลงดินไปปุ๊บ ก็กลายเป็นสารอาหารอินทรีย์
ร้านไอศครีม จิณตา พ่อหนุ่มเจ้าของร้านเลือกใช้วัตถุดิบและน้ำตาลอินทรีย์เป็นส่วนประกอบหลัก โดยแต่ละสัปดาห์ไอศครีมจะมีรสชาติที่หลากหลายต่างกันตามวัตถุดิบแต่ละฤดูกาล และที่สำคัญที่พ่อหนุ่มใส่ใจรายละเอียดมากขนาดนี้เพราะเด็กน้อยเจ้าของชื่อร้านไอศครีมก็เป็นนักเรียนที่นี่เช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นโชคดีที่เหมือนได้ทำของหวานทำให้ลูกๆ ทั้งโรงเรียนรับประทานไอศครีมปลอดภัย
ร้านพัฟย่าง ไส้ต่างๆ ทั้งกล้วย มะพร้าว มัน เผือก แป้งพัฟที่ปกติขายในร้านเบเกอร์รี่ทั่วๆ ไปจะชุ่มเนยขาว ที่เราเองก็หวาดเสียวเช่นกัน แต่ร้านนี้ไม่มีเนย และจากการที่เอาพัฟไปอบร้านนี้จะย่างไฟอ่อนๆ ห่อด้วยใบตอง หอมฉุยชวนรับประทาน จนเด็กๆ ต้องจองคิวยาวมากๆ เลยค่ะ
นี่เป็นการยกตัวอย่างบางส่วนที่เราเห็นจากร้านรวง แต่อีกหนึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นคือ ที่โรงเรียนแห่งนี้ผู้ปกครองและนักเรียนจะถือกล่องใส่อาหาร ขวดน้ำ มาใส่ หรือบางร้านจะมีบรรจุภัณฑ์ที่ไม่รบกวนสิ่งแวดล้อม และไม่มีการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเลย จริงๆแล้วที่นี่ไม่ใช่ที่แรกที่ทำ แต่เราอยากให้ตลาดตั้งต้นแห่งนี้ เป็นตลาดตั้งต้น ตั้งไข่ เพราะเราเชื่อมาโดยตลอดว่านิสัยที่ถูกเพาะบ่มเช่นไร จะส่งผลต่อพฤติกรรมการเลือก การกิน และการทิ้งของเราทุกคน โรงเรียนย่านชานเมืองแห่งนี้ไม่ใช่โรงเรียนเดียวที่เริ่ม แต่การขยายผลจากการดึงผู้ใหญ่ที่บ้านให้เริ่มออกมาตระหนักรู้ มีสติคิด เรื่องการกิน การใช้พลังงาน และการคิดก่อนจะส่งคืนขยะสู่ธรรมชาติ จึงเป็น 'ตลาดตั้งต้น' ที่เราคิดว่าอยากให้ทุกโรงเรียน ทุกออฟฟิศ จัดสรรเวลาคุณภาพแบบนี้ให้ได้อาทิตย์ละวัน ถ้ามันเกิดได้จริง คงจะมีคนได้ทานอาหารปลอดภัยเพิ่มขึ้นอีกเป็นกอง คุณว่าจริงไหม
ผู้เขียน
ณัฐพร ปิ่นเพ็ชร์
ครีเอทีฟ / นักเล่าเรื่อง
Comments