นักเล่าเรื่องอาหารผ่านตัวอักษร แพรว - แพรวไพลิน บุพศิริ นักเขียนคอลัมน์อาหาร ที่นอกเหนือจากการเล่าเรื่องแล้ว ทุกตัวอักษรของแพรว คือการปลุกอาหารให้มีชีวิต และนี่คือ 7 คำถามที่จะทำให้คุณรู้จักเธอมากกว่าแค่เรื่องอาหาร
ก่อนมาทำงานนักเขียนให้กับ BKKMENU คุณมีอาชีพอะไรมาก่อน ทำไมถึงตัดสินใจมาทำ
ก่อนนี้เคยทำงานเขียนให้กับนิตยสารวัยรุ่น - ไลฟ์สไตล์ที่ Seventeen Thailand Magazine และนิตยสารท่องเที่ยว BAREFOOT Magazine แต่ภายหลังนิตยสารแต่ละเล่มทยอยปิดตัวลงในช่วงปี 2559 โลกเข้าสู่ยุคของการทำ Digital Content จึงเป็นเหตุผลให้ตัดสินใจทำงานเขียนอีกครั้งในแพลตฟอร์มใหม่ให้กับ BKKMENU ซึ่งเป็นเว็บไซต์ไลฟ์สไตล์เข้าถึงกลุ่มผู้อ่านมากขึ้น และมีส่วนช่วยพัฒนางานเขียนเราให้มีความวาไรตี้มากขึ้น
ระหว่างนักเขียนด้านอาหารกับนักกินอาหารมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร
ในมุมมองของเรา นักกินส่วนมากมีความสุขที่ได้ทานของอร่อยๆ และได้แชร์ความอร่อยนั้นไปยังกลุ่ม คนที่ชอบของอร่อยเหมือนกัน ส่วนนักเขียน นักรีวิวอาหาร ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความชอบกิน แต่อีกส่วนหนึ่ง อย่างเช่นตัวเราเองก็เกิดจากความสนใจในแง่ของความหลากหลายทางด้านของวัฒนธรรม การกิน อาหาร เป็นจุดเชื่อมโยงให้เราได้ทำความรู้จักกับผู้คน เพราะถ้ามองลึกลงไปในอาหารแต่ละจาน
เบื้องหลังความอร่อยมันมีที่มาจากหลายๆ อย่าง ทั้งวัตถุดิบ วิธีทำ หรือการออกแบบหน้าตาอาหาร ให้ดูน่าทาน ให้บ่งบอกได้ว่านี่คือเมนูเอกลักษณ์ของที่นี่นะ มันคือเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทุกคนจับต้องได้
ผ่านประสาท สัมผัสการรับรสรับกลิ่น นำไปสู่ความเป็นนัก (อยาก) ชิมในที่สุด ‘นักเขียน’ กับ ‘นักกิน’
จึงค่อนข้างสัมพันธ์กันอยู่ในที สิ่งสำคัญในการทำหน้าที่ของนักเขียนด้านอาหารก็คือการถ่ายทอดความเป็นนักกินที่เป็นมากกว่าการชิมอาหาร แต่เป็นการให้แพสชันบางอย่างกับคนอ่าน เรื่องราวอะไรก็ตามที่เราได้มีโอกาสไปรู้มา ไปสัมผัสมา การค้นพบเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ในอาหารแต่ละจานคือสิ่งที่เราตั้งใจนำเสนอ
ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการมาทำ BKKMENU จนถึงปัจจุบัน คิดว่าเทรนด์การรับประทานอาหารของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
ช่วงแรกๆ ฟีดแบ็กจากคนอ่านส่วนใหญ่นิยมไปคาเฟ่ โดยเฉพาะคาเฟ่เปิดใหม่ที่รับเอาสไตล์อาหาร
บรรยากาศร้านจากต่างประเทศที่กำลังเป็นเทรนด์อยู่ ณ ตอนนั้น อย่างร้านสไตล์เกาหลี เทรนด์อาหาร ปิ้งย่าง ชานมไข่มุก ที่มาเร็วไปเร็วตามกระแสนิยม แต่ล่าสุดเทรนด์อาหารของคนไทยเริ่มหลากหลายแนวมากขึ้น และเริ่มกลับไปที่ Back to Basic นำเสนอความเป็นต้นตำรับ หลายร้านพยายามครีเอทความแปลกใหม่ ผสมผสานความเป็นไทยให้เข้ากับความเป็นสากลมากขึ้น มีเรื่องราว มีการเลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่นแข่งขันกันด้วยรูปแบบการนำเสนอที่สร้างสรรค์กว่าเดิม แต่ถ้าถามถึงเทรนด์การกินยุคนี้ไม่มีรูปแบบการกินไหนที่ตายตัวหรือโดดเด่นกว่ากันเลย ไม่ว่าจะหรูหราระดับไฮเอนด์ - มิชลินสตาร์ หรือจะสตรีทฟู้ด เพราะโซเชียลมีเดียทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันไปมาอย่างอิสระ เต็มไปด้วยมิติ ที่รวมเรื่องของรสชาติและบรรยากาศไว้ด้วยกัน ความหลากหลายตรงนี้น่าจะนิยามเทรนด์การกินของคนยุคนี้ได้ดีที่สุด
คิดอย่างไรกับคำว่า Food Trend Setter? แล้วคิดว่าตนเองเป็น Food Trend Setter มั้ย
ความไวของช่องทางที่คนยุคนี้เลือกแชร์ผ่านโลกออนไลน์ทำให้เกิดผู้นำเทรนด์การกิน หรือ ‘Food Trend Setter’ หน้าใหม่เต็มไปหมด เทรนด์อาหารก็เหมือนแฟชั่น พอเริ่มหลากหลายก็ไม่มีอะไรที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์การกินของแต่ละคน ส่วนตัวไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็น Food Trend Setter เลย เพราะทุกรีวิวที่เราเขียนออกไป ก็ไม่ได้คาดหวังว่าคนอ่านจะต้องตามไปทานทุกที่ จริงอยู่ที่ว่าการ แข่งขันบนสื่อออนไลน์ ต้องนำเทรนด์ ต้องจับกระแสความนิยมของผู้เสพสื่อ เพื่อกระตุ้นยอดไลค์ ยอดแชร์ แต่ท้ายที่สุดเราว่าเรื่องของความถูกต้อง ความเป็นกลาง การแนะนำทางเลือกใหม่แบบอิสระ ในการตัดสินใจของผู้อ่านก็เป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางที่ก้าวทันยุคสมัย ไปพร้อมๆ กับรักษามาตรฐานงานของเราตัวตนของเรา และเอกลักษณ์ของ BKKMENU ไว้ให้ได้ด้วย
เบื้องหลังในการทำงานเขียน เคยเจาะลึกแหล่งที่มาของวัตถุดิบในการผลิตอาหารมั้ย คิดว่ามีเคสไหน น่าสนใจเล่าให้ฟังได้บ้าง
มีหลายร้านเลยล่ะ อย่างเคสที่เรารู้สึกว่าน่าสนใจที่สุด คือ ‘ร้านศรณ์’ ร้านอาหารใต้สไตล์ Fine Southern Cuisine ที่เชฟเลือกใช้วัตถุดิบภาคใต้ที่เริ่มสูญหาย มาครีเอทเป็นเมนูจานหลัก มีทีมงาน ออกตามหาวัตถุดิบจากการลงพื้นที่หลายจังหวัด แล้วนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคนิคปรุงอาหารที่ทันสมัย จนได้รสชาติอาหารใต้ที่ดีที่สุด เช่น การใช้เนื้อวัวโคนมแก่อายุ 6 ปี ที่เลี้ยงโดยชาวมุสลิมจากจังหวัดพัทลุง ด้วยเหตุผลที่ว่าทำให้ได้เนื้อกอและที่นุ่มละลายในปาก หรือเมนูของหวานอย่างไอศกรีมน้ำเต้าหู้ปาท่องโก๋ ที่เลือกใช้น้ำเชื่อมที่ทำมาจากต้นจากที่ปลูกอยู่ริมทะเลเท่านั้น เพื่อให้ได้น้ำเชื่อมที่มีรสหวานปนเค็มเหมือน Sea Salt Caramel อย่างเป็นธรรมชาติ พอเรารู้ที่มาที่ไปของแต่ละเมนู รู้ถึงความตั้งใจของคนทำอาหาร เชื่อไหมว่าเวลาที่เราชิมอาหารจานนั้นเข้าไปรู้สึกว่ามันอร่อยขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ต่อยอดให้เราอยากถ่ายทอดความอร่อยนั้นไปยังคนอ่านด้วย
ถ้าถอดความเป็นนักเขียนออก แล้วคุณเป็นหนึ่งในผู้บริโภค คุณอยากบอกอะไรกับร้านอาหารบ้าง
อยากให้ทุกร้านให้ความสำคัญกับคุณภาพอาหาร ทั้งเรื่องของรสชาติและความสะอาด เทียบเท่ากับปริมาณ และการให้บริการที่ดี สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักชิมให้มาฝากท้องที่ร้านของคุณได้ไม่ ยากหรอก ส่วนจะสร้างความแตกต่างด้วยเรื่องของบรรยากาศหรืออะไรก็ตามแต่ ค่อยเติมเข้าไปอีกที
สุดท้ายเราอยากให้คุณเขียนรีวิวความยาวประมาณ 2 บรรทัด เกี่ยวกับสิ่งที่คุณเรียกมันว่าอาหารจริงๆ
สิ่งที่เราเลือกทานเข้าไปแล้วดับความหิวกระหาย อิ่มสบายท้อง ผ่านกรรมวิธีปรุงจากวัตถุดิบต่างๆ ทั้งพืชและสัตว์ จนได้รสชาติกลมกล่อมกำลังดี อีกทั้งยังมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย
หน้าที่ของคนเล่าเรื่องอาหารมีหน้าที่สำคัญหนึ่งอย่าง คือการส่งต่อเรื่องราวของสิ่งที่จะเป็นพลังงานชีวิตของมนุษย์ ถึงแม้ค่านิยมในการกินจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่สิ่งสำคัญคือคุณค่าของอาหาร ที่มาของวัตถุดิบยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ ‘อาหาร’ แต่ละจานมีความหมาย ยิ่งสมัยนี้หลายคนหันมาใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพ เทรนด์รับประทานอาหารปลอดภัยทำให้คนสนใจพืชผักปลอดสารพิษมากขึ้น ส่งผลไปถึงเกษตรกรให้หันมาทำเกษตรกรรมยั่งยืนมากกว่าแต่ก่อน อาชีพนักเขียนกับเกษตรกรฟังดูเป็นเรื่องห่างไกล น่ามหัศจรรย์ที่สุดท้ายทุกสิ่งล้วนถูกเชื่อมโยงถึงกันหมด เราคิดว่าแพรวเองก็เป็นอีกหนึ่งนักเขียนที่ มีส่วนในการสร้างความมหัศจรรย์นี้ จากผู้บริโภคสู่เกษตรกร ผ่านตัวอักษรที่สร้างความเชื่อมโยงแก่กัน...
และเราก็ยังตามอ่านสิ่งที่แพรวใช้เชื่อมโยงแต่ละจานผ่านทุกตัวอักษรต่อไป
ผู้เขียน
ณัฐพร ปิ่นเพ็ชร์
ครีเอทีฟ / นักเล่าเรื่อง
ผู้ให้สัมภาษณ์
แพรว - แพรวไพลิน บุพศิริ
นักเขียนประจำ BKKMENU
Comentários