เด็กผู้หญิงวัย 16 ปี คนหนึ่งถูกคนที่เรียกตัวเองว่าปกติ ตัดสินว่าเธอคือเด็กออทิสติก โรคที่ทำให้เธอดูแตกต่าง ใช่ สำหรับเราเธอดูแตกต่างมากๆ เพราะ เกรต้า ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยบอกว่าผู้นำโลกและผู้ใหญ่หลายคนกล้าดีที่มาบอกว่าจะขอฝากความหวังกับเด็กๆ ซึ่งเป็นคำพูดที่ดึงความรู้สึกของคนได้มาก
ไม่เพียงแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมหรอกที่เราควรตระหนัก แต่ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ คือหน้าที่และความรับผิดชอบส่วนรวมเลยก็ว่าได้ เพราะกี่ร้อยกี่พันปีมาแล้วที่เราใช้ธรรมชาติมามากมาย จนต้นทุนที่เราเองก็ได้มันมาฟรีๆ เริ่มเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่อากาศ ดิน น้ำ สุดท้ายมนุษย์อย่างพวกเราก็หาทางลัดในการเยียวยาธรรมชาติด้วยสารเคมี คำถามสำคัญคือเราเยียวยาถูกทางหรือเปล่า
โรคมะเร็งเป็นปัญหาทางสาธารณสุขของโลก เป็นสาเหตุการตายประมาณ 13% ของคนตายทั้งหมดในแต่ละปี ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่า 6 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2537 มีจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งมากกว่า 18 ล้านคน และมีผู้ป่วยใหม่ประมาณ 9 ล้านคนในทุกๆ ปี องค์การอนามัยโลกได้คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2563 ทั่วโลกจะมีคนตายด้วยโรคมะเร็งมากกว่า 11 ล้านคน และจะเกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนามากกว่า 7 ล้านคน เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็ง โรคมะเร็งที่พบบ่อยในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เนื่องจากประชาชนมีการเกิดโรคติดเชื้อต่างกัน ได้รับรังสี สารเคมี มีพฤติกรรมการบริโภคอาหาร คุณสมบัติทางพันธุกรรม วิถีการดำเนินชีวิตและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่ถ้าเราลดปัจจัยความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้ซัก 1 ตัวแปร เราจะไม่ทำเหรอ
ตัวแปรที่เราควบคุมง่ายที่สุดในวันนี้คือ ตัวเราเอง ที่จะเลือกกินอย่างไร อย่าลืมว่าเราต้องกินทุกวัน แล้วเราเคยมองย้อนไปมั้ยว่าเราเลือกกินอะไร ส่งผลต่อโลกใบนี้อย่างไรจากการกินของเรา ขอยกตัวอย่างเชิงเศรษฐศาสตร์การกิน ด้วยข้าวกะเพราไก่ไข่ดาว ง่ายๆ เลยนะ อาหารที่คนไทยมักจะพูดว่าสิ้นคิด แต่สำหรับเรา ข้าวกะเพรามันสะท้อนความคิดของคนสิ้นใจได้มากกว่านะ ลองมาดู
ข้าวกะเพราไก่ไข่ดาวปัจจุบันราคาจานละ 40 บาท โดยเฉลี่ยต้นทุนเฉพาะวัตถุดิบของอาหาร อยู่ที่ 30% ใช่แล้ว ต้นทุนจริงเฉลี่ย 12 บาท แบ่งเป็นไข่ 4 บาท อีก 8 บาท คือ ข้าว หมู กระเทียม พริก ใบกะเพรา เฉลี่ยๆ แล้ว ชนิดละ 2 บาทกว่าๆ หมายความว่า ร้านอาหารต้องใช้ข้าวราคาถูกมากๆ ขอยกตัวอย่างแค่ข้าวนะ
ข้าวที่ราคาถูกมาจากที่ไหน ปกติถ้าเกษตรกรปลูกข้าว 1 ไร่ ถ้าได้ผลผลิต 100% เท่ากับ 500 กิโลกรัม แต่ถ้าปลูกแบบอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมีเลยจะอยู่ที่ 40% (โดยประมาณ) นั่นคือ 200 กิโลกรัม ดังนั้น ถ้าต้องการปลูกแบบไม่เสียเลยให้ได้ 100% ต้องไม่ให้มีแมลงมากิน จึงพ่นยา เพราะเมื่อหักลบแล้ว ถึงแม้ต้องจ่ายค่ายาเพิ่มมา แต่ขายข้าวได้ 100% ขายข้าวหมดคุ้มกว่า แม้ราคาข้าวจะถูกลง แต่ขายเน้นปริมาณก็ยังกำไรอยู่ดี ดังนั้นต้นทุนค่าข้าวจานละ 2 บาทกว่าๆ จึงเป็นไปได้
จากที่เล่าให้ฟังมันคือความจริง นี่แค่ข้าว แล้วหมู กระเทียม พริก ใบกระเพรา ก็เจอลักษณะการจัดการแบบใกล้เคียงกัน แต่เราจะโทษเกษตรกรอย่างเดียวก็ไม่ได้ ตราบใดที่ตลาดยังเป็นแบบนี้ ความต้องการอาหารปลอดภัยยังมี แต่ความสามารถในการจ่ายของผู้บริโภคเองก็เป็นปัจจัยในการที่ทำให้เกษตรกรเองต้องพึ่งสารเคมีอยู่แบบนี้ เราไม่ได้อยากมาตามล่าหาความจริงหรอกว่าใครเป็นตัวต้นเหตุ เพราะสุดท้าย เราทุกคนต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ชีวิตคนอื่น และสิ่งแวดล้อมที่มันเกิดขึ้นร่วมกันอยู่ดี
แม้ในช่วง 10 ปีหลังมานี่ แนวทางออร์แกนิคทำให้เกิดกระแสการไม่ยอมรับอาหารหรือวัตถุดิบปนเปื้อนจากสารเคมีมากขึ้น แต่จำนวนผู้ป่วยยังคงเพิ่มขึ้น โดยที่แนวโน้มผู้ป่วยมีอายุน้อยลง เพราะในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว คนส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจว่าทำไมสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย มีการรับรองมาตรฐานจึงมีราคาต้นทุนที่สูง ทั้งๆ ที่ไม่ต้องจ่ายค่าสารเคมีแล้วก็ตาม ความสามารถในการเลือกวัตถุดิบปลอดภัยจึงดูราวกับว่าช่างเป็นสิทธิ์ ของ VIP ของผู้มีอันจะจ่ายเท่านั้น และยังไม่นับรวมถึงความไม่น่ารัก ซิกแซกของพ่อค้าหัวใสหัวใจเคมีอีกหลายเจ้า ที่หยิบเอาของอะไรก็ได้มาทำแพคเกจจิ้งใหม่ ติดตราออร์แกนิคเพื่อแต่งตัวให้ขายง่าย เพิ่มขยะ และย้อนคืนขยะลงสู่ดินอีกตามเคย เราคิดว่ามันถึงเวลาแล้วล่ะ เวลาที่ไม่ต้องรอ ไม่ใช่หน้าที่ของใครซักคนที่ต้องทำ
ฐานะผู้บริโภคก็ต้องสร้างวิถีการกินใหม่ๆ เพื่อให้ตัวเองปลอดภัย สร้างวิธีคิดใหม่ๆ ต้องเข้าใจว่าที่เราจ่ายแพงขึ้น คิดเสียว่าเป็นค่าแรงเกษตรกรที่เขาต้องเสียสละเวลามาดูแลวัตถุดิบให้ปลอดภัย ไม่ต้องพึ่งสารเคมี อย่างน้อยเราว่ามันน่าจะถูกกว่าค่ารักษามะเร็งนะ
ฐานะคนกลาง คนขายอาหาร คนจัดส่ง ก็ต้องซื่อสัตย์ อย่าลืมวันหนึ่งคนกลางก็ต้องกิน ครอบครัวก็ต้องกิน เราไม่มีทางรู้ได้ ว่าความไม่ได้คิดอาจจะทำให้คนกลางกลายเป็นฆาตรกรได้เหมือนกัน
ฐานะเกษตรกร คุณคือผู้ส่งผลกระทบตั้งต้น ดังนั้น อาหารของโลก สิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนทั้งโลกอยู่ที่คุณแล้ว
เกรต้า ธันเบิร์ก พูดไม่ได้ผิดแม้แต่ประโยคเดียว และแม้เธอจะโดนวิจารณ์อย่างหนักว่า ก้าวร้าว แต่สำหรับเรา โลกยังต้องการความจริงอีกมาก และผู้กล้าเหมือนคำที่เธอกล่าว “นี่มันผิดไปหมด ฉันไม่ควรมาอยู่บนเวทีนี้ ฉันควรกลับไปเรียนหนังสือในอีกฟากฝั่งของมหาสมุทร แต่พวกคุณก็เดินทางมาหาความหวังจากพวกเราเยาวชน คุณกล้าดีอย่างไร คุณขโมยเอาความฝันและวัยเด็กของเราด้วยคำพูดจอมปลอม นี่ฉันถือว่าเป็นกลุ่มคนที่โชคดีแล้วนะ ผู้คนอยู่อย่างทรมาน คนบาดเจ็บล้มตาย และระบบนิเวศกำลังล้มลง เรากำลังจะสูญพันธุ์ แต่พวกคุณกลับพูดกันแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ คุณกล้าดีอย่างไร” ธันเบิร์กกล่าวพร้อมกับน้ำตาที่ไหลออกมา และเสียงปรบมือที่ตามมาภายหลัง
ผู้เขียน
ณัฐพร ปิ่นเพ็ชร์
ครีเอทีฟ / นักเล่าเรื่อง
Comments