top of page

อาหารเช้าที่หลงลืม



“ตื่นเช้าล้างหน้าแปรงฟัน รับประทานอาหาร แล้วค่อยแต่งตัว ลาคุณพ่อคุณแม่เร็วไว ลาคุณพ่อคุณแม่เร็วไว เดี๋ยวจะสายรีบไปโรงเรียน~”


ตอนเด็กๆ จำได้มีเพลงที่เราจะร้องเป็นประจำ ไม่แน่ใจว่าเป็นเพลงบังคับของโรงเรียน หรือเพลงที่พวกเพื่อนๆ ในห้องร้องกัน แต่เพลงนั้นเล่าถึงกิจวัตรที่เด็กๆ ควรทำ และถึงแม้จะเร่งรีบไปโรงเรียนสักเท่าไหร่ แต่อาหารเช้าที่ต้องรับประทานจึงเป็นเรื่องสำคัญ และความไม่ได้เร่งรีบเท่าตอนนี้ของวัยเยาว์ ทำให้เราเห็นภาพและกลิ่นของอาหารเช้าที่เราถูกแทนที่มันด้วยชีวิตเร่งรีบ เหลือเพียงกาแฟแก้วเดียวมานานเท่าไหร่แล้ว



ใช่แล้ว เราจะมาคุยกันเรื่อง ‘สิ่งที่เป็นพลังงานเช้าของชีวิต’ แต่เรากลับให้ความสำคัญกับมันน้อยลงไปมากๆ ด้วยความเร่งรีบมากๆ จากเดิมเราเรียนรู้ถึงหลักการทางโภชนาการในวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ว่าเราควรรับประทานอาหารหลัก 5 หมู่อันประกอบไปด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ ในสัดส่วนที่จะสร้างพลังงานตอนเช้าหลังตื่นนอนถึงเที่ยง แต่ตอนนี้ไม่นับว่าตื่น รีบเร่ง ไปแช่กันอยู่บนถนน แวะซื้ออาหารรถเข็น แล้วไปถึงที่ทำงานให้ไวที่สุด ไม่นับรวมว่าด้วยเวลาอันมีค่านี้ เราต้องทานอาหารเช้าบนรถ หรือถ้าไม่ทัน ก็เหลือกาแฟในออฟฟิศสักถ้วย ทำไมเวลาของการใช้ชีวิตถึงถูกให้ความสำคัญกว่าเวลาคุณภาพชีวิต คำถามที่เราเองก็อยากออกไปหาคำตอบด้วยเช่นเดียวกัน


วันนี้เราจึงออกสำรวจว่า เช้าๆ กับ 3 จุดที่เราคิดว่ามีคนหนาแน่น คนทำงานในงานที่ต่างกันออกไป เขารับประทานอะไรกันดูด


พิกัดที่ 1 : ใต้สถานีรถไฟฟ้า เป็นจุดสำหรับมนุษย์ออฟฟิศที่คราคร่ำแวะซื้ออาหารเช้าก่อนไปทำงาน แน่นอนจะมีรถเข็ญแผงลอยมากมาย ทั้งข้าวไข่เจียว ข้าวเหนียวหมูปิ้ง แซนวิช กาแฟโบราณ สารพัดถูกจัดเป็นชุด ราวกับว่าเหมือนวิ่งผลัด คนทำจัดใส่เป็นถุง คนซื้อแวะมาจ่ายเงิน หยิบ ไป บางคนต้องหลบไหล่ทางทานแซนวิชมือหนึ่ง ถือแก้วกาแฟโบราณมือหนึ่ง รีบทาน รีบไป เพราะถ้าพลาดเพียงอึดใจอาจจะหมายถึงการติดอยู่บนถนนยาวนานและทำให้ไปทำงานไม่ทัน พลาดงานสำคัญ ผิดแผนไปหมด แต่เราว่าพลาดไปอย่างนึงนะ พลาดที่จะได้กินอาหารคุณภาพดีๆ พลาดสุขภาพดีๆ ไปมาก


พิกัดที่ 2 : หน้าโรงพยาบาล ที่นี่เราคาดหวังสูงมาก เพราะด้วยความที่เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ โภชนาการ และการที่ต้องดูแลผู้ป่วย ขออนุญาติไม่ออกนามโรงพยาบาลจะดีกว่า เดินเข้ามาปุ๊บ ดีจังศูนย์อาหารเปิดตั้งแต่เช้าตรู่ตั้งแต่ 6.00 น. มีโซนให้บุคลากรได้ทานอาหารที่น่าะปลอดภัย ไม่มีสารกันบูด ไม่มีผงชูรส แต่เอ.. เราเห็นในโซนนี้มีแค่คุณหมอมานั่งทานไม่กี่คน พอเราเดินอ้อมไปนอกรั้วโรงพยาบาลถึงกับเบรคแทบไม่ทัน รถเข็นหมูปิ้ง ลูกชิ้นทอด กาแฟโบราณ ข้าวเหนียว คนเยอะเลย ส่วนมากจะเป็นพยาบาล เจ้าหน้าที่ส่วนบริการ และพนักงานทั่วไป สุดท้ายรถเข็นน่าจะเป็นขวัญใจวัยทำงานจริงๆ


พิกัดที่ 3 : โรงอาหารมหาวิทยาลัย อันนี้เราลดระดับความคาดหวังไว้เลย เพราะภาพที่เราคุ้นชินคือนักศึกษามหาวิทยาลัยน่าจะทานฟาสต์ฟู้ด ฟาสต์ไลฟ์ ทุกอย่างน่าจะต้องเป็นเทรนด์ แต่พอไปถึงกลับรู้สึกว่าที่นี่คืออาหารปรุงใหม่ มีความเป็นโรงอาหาร มีให้เลือกหลากหลาย ทั้งโจ๊ก ข้าวต้ม ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว อาจจะมีชานมไข่มุกและน้ำหวานหลากสีมาก แต่บรรยากาศดูไม่เร่งรีบ มีเวลา ดูนั่งทานแบบร่างกายได้ตั้งสติอยู่บ้าง



ทั้ง 3 พิกัดในความเห็นส่วนตัวนะ เราว่ามันต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจกันทุกภาคส่วน คือ แม่ค้าถ้าทำอาหารที่ดีปลอดภัย ใช้วัตถุดิบคุณภาพ หรือเลือกออกแบบเมนูตามกลุ่มลูกค้าโดยพยายามให้ครบหลักการทางโภชนาการ กับลูกค้าเองก็ต้องเคารพทั้งร่างกายตัวเอง และการเลือกซื้อคุณภาพของอาหารที่จะเข้าไปอยู่ในร่างกายของเราด้วย เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายร่วมมือแข็งขัน และตั้งกฏกติกาในใจร่วมกันที่จะมีอาหารเช้าคุณภาพ เราเชื่อจริงๆ นะ ว่าเรื่องนี้เป็นกลไกทางการตลาด และกลไกทางสังคม ที่ส่งเสียงสะท้อนไปยังผู้ผลิตวัตถุดิบต้นทาง ให้ช่วยเราอีกแรง ที่สร้างวัตถุดิบปลอดภัย ปราศจากสารเคมีและยาปฏิชีวนะ ยังไงสงสารร่างกายเถอะ ตื่นมาเช้าๆ ควรได้รับสิ่งดีๆ เข้าไป ไม่ใช่อาหารที่ปนเปื้อนตั้งแต่ต้นทาง ผสมกับฝุ่นควันข้างถนนอีก หวังลึกๆ ว่าบทความนี้จะทำให้หลายคนลองมองอาหารเช้าที่ตัวเองทานนะคะ ว่าเรารู้ตัวหรือไม่เรากำลังทานอะไร คิดถึงกับข้าวที่บ้านตอนเช้า ที่แม้จะเป็นแกงจืดง่ายๆ กับไข่ดาวที่ไม่ได้ดูหรูหรา แต่มันเรียกได้ว่าเป็นอาหารเช้าจริงๆ ที่เราไม่เคยลืม



 


ผู้เขียน

ณัฐพร ปิ่นเพ็ชร์

ครีเอทีฟ / นักเล่าเรื่อง



15 views
bottom of page