top of page

อาหารบำบัด มนุษย์บำบัด


ช่วงนี้มีคำฮิตๆ ติดหูว่า อะไรที่ดีต่อใจ ต่อท้ายด้วยคำว่า Therapy ปุ๊บ มันช่างดูเลอค่าน่าทดลองกันขึ้นมาเลยทีเดียว และอีกคำที่ปี 2019 นี้ได้กลายเป็นคำยอดฮิต คือ เจ้า Food Therapy เฮ้ยยยยย คือไรอ่ะ อาหารบำบัด ที่เรากินอยู่มันก็บำบัดแล้วนะ บำบัดความหิว.. ไม่ใช่ค่ะ มันมีมากกว่านั้น และมันเป็นเรื่องที่มีมานมนานหลายร้อยปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมีนะจ้ะ เพียงแต่มันไม่ได้ถูกโซเชียลมีเดียหรือวงการแพทย์นำเสนอออกมาให้เราได้เห็นได้อ่านกันเท่านั้นเอง เลยอยากจะมาเล่าศาสตร์แห่ง Food Therapy จากหลายๆ แหล่งที่เคยได้รู้มาบ้างให้อ่านกันค่ะ



ประเทศญี่ปุ่นกับ มิโซะ


“มิโซะ” ได้จากการเอาถั่วเหลืองไปนึ่งแล้วบดให้ละเอียด จากนั้นนำข้าวมอลต์และเกลือมาผสม หมักทิ้งไว้ ในสมัยโบราณทำมิโซะเป็นก้อนตากแห้งไว้ เพื่อไม่ให้เสียง่าย แต่ปัจจุบันมักจะบรรจุกล่องแช่เย็น เป็นวิธีถนอมอาหารไว้กินได้นานๆ ในซุปมิโซะหนึ่งถ้วยจะอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย อาทิ คาร์โบไฮเดรต, โปรตีน, ไขมัน ฯลฯ วงการแพทย์ยืนยันถึงความมหัศจรรย์ของคุณสมบัติเชิงยาของมิโซะ เปี่ยมด้วยคุณค่า ให้พลังงานสูง ช่วยบำรุงสุขภาพและความกระฉับกระเฉง เนื่องจากการหมักที่ก่อให้เกิดจุลินทรีย์แล็กติก มิโซะจึงเป็นมากกว่าแค่องค์ประกอบย่อย ระหว่างขั้นตอนการหมัก โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต ในข้าวและถั่วเหลือง จะแตกตัวจนกลายเป็นกรดอะมิโน กรดไขมัน และน้ำตาลที่ย่อยง่ายกว่าเดิม ด้วยเหตุนี้ “ซุปมิโซะ” จึงเป็นอาหารที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ระบบย่อยอาหารไม่ดี “มิโซะ” เป็นเหมือนยาลดกรดแบบดั้งเดิม เพื่อบรรเทาอาการแบบฉับพลัน และเมื่อจุลินทรีย์ที่พบมากในมิโซะชนิดหวาน สีอ่อน ซึ่งไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ (ส่วนใหญ่จะหมักเป็นเวลา 2-8 สัปดาห์) เข้าไปอยู่ในลำไส้ จุลินทรีย์ที่ชอบกรดเหล่านั้นจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพและความแข็งแรง สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่เชื่อกันว่ามิโซะช่วยขับนิโคตินออกจากร่างกายได้อย่างรวดเร็ว และชาวญี่ปุ่นในชนบทยังคงใช้น้ำต้มมิโซะเพื่อล้างคราบน้ำมันดินออกจากกล้องยาสูบ มิโซะถือเป็นอาหารประจำวันที่มีประสิทธิผลทางการแพทย์สูงสุด แถมยังรสชาติดีอีกด้วย


ประเทศจีน


“โป๊” เป็นอาหารที่มีลักษณะจำเพาะ จึงมักมีสูตรหรือตำรับที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ หรือเกิดจากผู้ชำนาญการด้านการโภชนาบำบัดแผนจีนคิดค้นขึ้น อาหารโป๊ที่เน้นการดูแลป้องกันสุขภาพเป็นสำคัญ มักทำง่าย สามารถทำทานกันเองในครอบครัวได้ ตัวอย่างอาหารโป๊แบบจีน


“ฟักทองผัดไข่” จะใช้ไข่เค็ม โดยใช้แต่ไข่แดงนึ่งสุก แล้วเอามาบดผสมกับน้ำมัน ฟักทองปอกเปลือกหั่นเส้น ทอดน้ำมันให้สุก ตักขึ้นพักไว้ ใส่ไข่แดงบดลงกระทะ ผัดให้หอม จึงใส่ฟักทองลงผัดด้วย ได้ฟักทองผัดไข่เค็มตำรับระบายท้อง บำรุงผิวพรรณ แก้อาการตาบอดกลางคืน


“เนื้อวัวทอดซีอิ๊ว” เนื้อวัวหั่นเส้น เอาลงทอดน้ำมันถั่วลิสงด้วยไฟปานกลางจนเหลืองสุก เทใส่กระชอนพักไว้ ตั้งกระทะเจียวต้นหอมซอย ขิงซอย กระเทียมสับ ใส่เหล้า น้ำส้มหมัก ซีอิ๊ว เกลือ แล้วเติมน้ำ พอน้ำปรุงเดือด ตักราดบนเนื้อวัวทอดที่เตรียมไว้แล้ว ได้เนื้อวัวทอดซีอิ๊วตำรับบำรุงเลือดลม และบำรุงร่างกายที่อ่อนแอ



ประเทศเกาหลี


ขึ้นชื่อเรื่องความงาม ดังนั้นในทางอาหารบำบัดของชาตินี้ เราคิดว่าคงนี้ไม่พ้น Anti aging food ซึ่งน่าจะรู้จักกันดีในนาม กิมจิ อาหารชนิดนี้เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำผักหลากหลายชนิด เช่น ผักกาดขาว หัวหอม ต้นหอม แตงกวา กระเทียม ขิง พริกแดง มาแช่ในน้ำเกลือ ก่อนคลุกเคล้ากับเครื่องปรุง หมักไว้ กินแทนผักสดในฤดูหนาว เป็นการถนอมอาหารเพื่อให้ มีผักกินตลอดปี ไม่เพียงเป็นเครื่องเคียงช่วยให้เจริญอาหาร แต่ยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรงดูอ่อนกว่าวัย กระบวนการหมักกิมจิทำให้ได้แล็คโตบาซิลลัส ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดเดียวกับที่พบในนมเปรี้ยว ซึ่งให้ผลดีต่อสุขภาพลำไส้ และช่วยสร้างวิตามินบี 12 ในลำไส้ใหญ่ ซึ่งร่างกายไม่สามารถสร้างได้เอง นอกจากนี้ สารพฤกษเคมีในกิมจิ เช่น แคปไซซิน (Capsaicin) ในพริกแดงยังช่วยเผาผลาญไขมัน ส่วนสารอัลลิซิน (Allicin) ในหัวหอมและกระเทียมยังช่วยละลายลิ่มเลือดอุดตัน ทั้งช่วยลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย



ประเทศไทย


เล่ามาหลายประเทศ จะไม่มีประเทศไทยก็อย่างไรอยู่ และแน่นอนค่ะ วัตถุดิบพื้นบ้านที่ปลูกกันตามภาคต่างๆ ล้วนสร้างสรรค์มาที่จะปรับเข้าสู่ร่างกายเพื่อ ซ่อมแซม รักษา ด้วยไปดูกันค่ะ ว่า 3 เมนูที่นำมาเล่า มีประโยชน์อย่างไรบ้าง


“แกงเลียง” ถือเป็นเมนูที่มีประโยชน์มาก เพราะใส่ผักหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น บวบ ฟักทอง ข้าวโพด ใบแมงลัก อาจจะใส่เห็ดหรือแครอทเพิ่มด้วยก็ได้ เนื้อสัตว์จะเป็นกุ้งหรือหมู ไก่ ก็ได้แล้วแต่คนชอบ แต่ละอย่างนี่สรรพคุณเป็นยาได้หมดเลย แถมยังมีกลิ่นหอม น่ารับประทานที่สุด เช่น ใบแมงลัก ช่วยรักษาไข้หวัด หลอดลมอักเสบ ขับลม, ฟักทอง บำรุงร่างกายและรักษาสายตา, บวบ บำรุงหัวใจ, ข้าวโพดอ่อน บำรุงกระเพาะอาหาร


“สะเดา” จัดว่าเป็นอาหารที่อยู่คู่คนไทยมาเนิ่นนาน เราเริ่มรับประทานสะเดากันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ภาคกลางมักกินสะเดากับน้ำปลาหวาน เพราะช่วยลดความขมของสะเดา และกินคู่กับปลาดุกย่าง ประโยชน์ของสะเดา ได้แก่ แก้ไข้หัวลม, แก้ร้อนใน ขับเสมหะ ขับลม, ช่วยให้ย่อยอาหารดีขึ้น, ช่วยบำรุงธาตุน้ำและไฟในร่างกายได้ดี


“เมี่ยงคำ” เมนูอาหารว่างสุดโปรดของใครหลายคน สรรพคุณเยอะเกินบรรยาย เพราะเครื่องของเมี่ยงคำก็คือ ผักสมุนไพรหลากหลายชนิด ราดด้วยน้ำจิ้มหอมหวาน กินกันได้ทั้งครอบครัว ประโยชน์ของส่วนประกอบในเมี่ยงคำ เช่น ขิง เปลือกมะนาว ช่วยบำรุงธาตุไฟ, มะนาว ใบชะพลู ช่วยบำรุงธาตุน้ำ, พริก หอมแดง ช่วยบำรุงธาตุลม, มะพร้าว กุ้งแห้ง น้ำตาล ช่วยบำรุงธาตุดิน ซึ่งนอกจากบำรุงธาตุแล้วก็ช่วยบำรุงร่างกายของเราหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น แก้เสมหะ บำรุงกำลัง ขับลม ช่วยเจริญอาหารและขับพยาธิ


ทั้งนี้ทั้งนั้น ไหนๆ เราจะใช้อาหารเป็นยาแล้ว ก็อย่าเพิ่มยาพิษลงไปด้วยสารเคมีนะคะ เราเริ่มได้ด้วยการสร้างแนวคิดสนับสนุนการทำเกษตรปลอดภัย สร้างพื้นที่ทั้งออนไลน์ และพื้นที่จริงๆ ให้ปลอดสารเคมีในวัตถุดิบประกอบอาหาร สุดท้ายแล้ว เราเชื่อค่ะว่ามันเปลี่ยนได้ อาหารบำบัดแล้ว ความคิดมนุษย์ก็ต้องบำบัดไปพร้อมๆ กันค่ะ




 


ผู้เขียน

ณัฐพร ปิ่นเพ็ชร์

ครีเอทีฟ / นักเล่าเรื่อง



31 views

Comments


bottom of page