หากคิดจะทำกับข้าวทานเองซักมื้อ พวกเราออกไปจับจ่าย “ของสด” ที่ไหนกันบ้าง ในวัยเด็กของเรา จำได้ว่าตื่นเช้าช่วงปิดเทอม ในฐานะลูกสาว เรามีหน้าที่ต้องหิ้วตะกร้าไปตลาดเช้ากับแม่ เดินตามแม่ ช่วยแม่ถือตะกร้ากับข้าวใบเก่งที่แม่รับสืบทอดมาจากอาม่า ระหว่างทางที่แน่นขนัดไปด้วยสินค้าและเบียดเสียดไปด้วยผู้คนบริเวณทางเดิน สองข้างซ้ายขวาเรียงรายด้วยแม่ค้าพ่อค้ามากมายจากในจังหวัดเดียวกัน จากต่างอำเภอออกไปรวมไปถึงจังหวัดใกล้เคียง พากันนำสินค้ามาขายกันอย่างคึกคัก ชะโงกมองซ้ายทีขวาทีว่ามีอะไรน่าสนใจ ไล่ไปตั้งแต่ ผัก ผลไม้ หมู เป็ด ไก่ ปลา สัตว์ทะเล แกงถุง ขนมหวาน อาหารพร้อมทานที่มีกลิ่นอายวัฒธรรมไทยและจีน เสื้อผ้ารองเท้ากระเป๋า ไปจนกระทั่งล็อตเตอรี่ ระหว่างทางเข้าออก จะได้ยินเสียงวงดนตรีจากผู้พิการทางสายตาร้องเพลงหารายได้ บรรยากาศคึกคัก มีชีวิตชีวาแบบนี้ทุกวันตั้งแต่ตีสี่ตีห้า จนสิบเอ็ดโมงกว่าก็ถึงเวลาตลาดวาย มือซ้ายถือตะกร้าแกว่งไปมาตามนิสัยเด็ก แค่ระวังไม่ให้โดนคนรอบข้างก็พอ มือขวาชอบเกาะแขนแม่ไม่ให้พลัดหลง เราเดินตามแม่มาหลายปิดเทอม จนเริ่มจำได้ว่าแม่ชอบแวะร้านไหนบ้าง แม่ทักทายกับแม่ค้าหน้าประจำอย่างเป็นกันเอง พลางหยิบเลือกดูสินค้า หากบางอย่างไม่ใช่สิ่งที่เคยรู้จักมาก่อนแม่จะถามคนขายว่าเอาไปทำกินอย่างไร อันไหนที่ถูกใจก็เรียกแม่ค้า ยื่นของลงตะกร้า พร้อมจ่ายเงิน หลังเสร็จภารกิจในตลาด เรากับแม่แวะรับขนมครกร้อนๆ จากเตาที่สั่งไว้ตั้งแต่ก่อนเข้าไปช็อปปิ้ง แม่มักจะคำนวณเวลาช็อปปิ้งได้พอดีกับคิวขนมครก ระหว่างแม่ขับรถกลับบ้าน เด็กอย่างเราทำได้เพียงเปิดฝาขนมครกออกมาเป่าคลายความร้อน ก่อนเพลิดเพลินกับความหวานมันของกะทิ แป้ง และน้ำตาลอันเป็นเอกลักษณ์ของขนมไทย ชิ้นที่หอมอร่อยจะเป็นชิ้นล่าง ที่ถูกวางลงบนใบตองขณะร้อนๆ ส่วนฝาบนจะมีความกรอบกว่าเล็กน้อย.. ภาพความทรงจำของการไปตลาดสดยังคงชัดเจนอยู่ใความรู้สึก
เราเดินตลาดกับแม่ทุกปิดเทอม ตั้งแต่ประถมถึงมัธยม จนแม่ค้าบางคนไม่เพียงแค่ทักทายแม่ของเรา กลับกลายเป็นถามไถ่ถึงการเติบโตในทุกภาคเรียนของเราด้วย นับจากนั้นการเติบโตและหน้าที่การงานได้นำพาเราไกลออกไป กระทั่งตลาดสดไม่ได้เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ถูกระบุไว้ในแผนชีวิตประจำวัน เราเลือกเดินเข้าร้านอาหารแทนครัวของบ้าน มีร้านอาหารกระจายตัวทุกหนแห่งของเมืองที่พร้อมเสิร์ฟทุกมื้อเช้า กลางวัน เย็นไปจนถึงค่ำมืด หลายปีผ่านไปในกรุงเทพ.. นำพาให้วันหนึ่งเราย้ายมาอยู่บ้านสวน บริบทของชีวิตชวนให้เราต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น ทักษะพื้นฐานการเพาะปลูกและหาอยู่หากินที่มนุษย์จำเป็นต้องมี เรากลับไม่มี เราจึงต้องเริ่มเรียนรู้ เพื่อให้เกิดทักษะเหล่านั้นในตัวเอง จากการที่เคยซื้อผักไฮโดรโปนิคส์มากินต่อเนื่องยาวนานเป็นปี ทำให้การตัดสินใจทำเกษตรอินทรีย์ในสวนหลังบ้านเป็นทางเลือกที่เราไม่เคยคิดผิด ผลผลิตและผักที่เก็บได้ในสวน ชวนให้เราสนุกกับการทำอาหาร และเริ่มมีจินตนาการด้านงานครัว กระตุ้นให้เราอยากทำกับข้าวในเมนูที่ยากขึ้นไปกว่า ผัดผักและไข่เจียว แน่นอนว่าเราอาจจะเลี้ยงหมู ปลา หรือไก่ได้ แต่เราฆ่ามันมาเป็นอาหารไม่ได้ เพราะเราไม่กล้า และเราก็ไม่สามารถปลูกพืชได้แทบครบทุกชนิดที่เราชอบกิน ตลาดสดจึงกลับมามีความหมายในชีวิตเราอีกครั้ง
การออกไปตลาดสดของเราในช่วงที่โตขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่พกเงินและตะกร้า เราแอบพกพาประสบการณ์เพาะปลูกและเลี้ยงไก่ของเราไปด้วย ก่อนซื้อเราชอบซักถามที่มาของอาหารว่า แม่ค้าปลูกเองหรือเปล่า ปลูกที่ไหน ปลูกอย่างไร หากแม่ค้าตอบกลับมาว่ารับมาจากตลาดสดขนาดใหญ่ของจังหวัด เราจะวางสินค้าเหล่านั้น แล้วกล่าวขอบคุณบวกยิ้มหวาน (ทันที) ในส่วนของเนื้อสัตว์ ถ้าไม่ใช่ไก่ไทย หรือปลาช่อนที่ชาวบ้านจับได้ตามท้องนาก็ไม่กล้าซื้อกิน.. เพราะกว่า 4-5 ปี ที่เราติดอาวุธให้ตัวเองในด้านการหาอยู่หากิน ทำให้เรา “เข้าใจ” ที่มาของอาหารมากขึ้น ผักคะน้าสายพันธุ์เดียวกัน ที่ไม่ว่าจะมาจากแปลงเพาะปลูกไหนๆ มันก็มีองค์ประกอบรูปร่างเหมือนกัน แต่มีแค่เพียงบางกลุ่มคนเท่านั้นที่รู้ว่าผลลัพธ์หลังการกินมีความต่างกัน ผักคะน้าขึ้นชื่อติดอันดับ 1 ใน 10 ของผักที่มีสารเคมีจากการเพาะปลูกมาหลายสมัยร่างกายเราจะบอกเราไม่ได้ถ้าร่างกายยังเคยชินกับที่มาอาหารแบบเดิมๆ แต่สำหรับเราไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว เพราะหลังจากการบริโภคอาหารปลอดภัยที่ปลูกเองในทุกวันต่อเนื่องหลายปี “ร่างกายของเรา” พอจะบอกได้ว่าคะน้าแบบไหนที่ควรกิน และคะน้าแบบไหนที่ไม่ควรซื้อมากิน ไม่เพียงแต่ผักคะน้า รวมไปถึงพืชผักผลไม้นานาชนิด และเนื้อสัตว์อื่นๆ ในท้องตลาด ในยุคปัจจุบัน ก็ปนเปื้อนไปด้วยสารเคมี ซึ่งเราพอจะรับรู้ได้จากรูปลักษณ์และกลิ่นที่ส่งผ่านออกมาจากวัตถุดิบสดหลังจากลองสุ่มซื้อมาทดสอบ หากใครจะลองพิสูจน์กลิ่นที่ว่า สามารถทำการทดลองได้ง่ายๆ วิธีการคือซื้อผักออร์แกนิกจากร้านที่มั่นใจได้ และผักชนิดเดียวกันแต่ซื้อจากตลาดสดทั่วไป มาแยกใส่ในขวดแก้วสะอาดขนาดใกล้เคียงกันอย่างละขวด แล้วปิดฝาให้สนิท ต้องทำในวันเดียวกัน แล้วสังเกตการเปลี่ยนแปลงของผักใน 2 ขวดนั้นในช่วง 3-14 วัน
ต้นหอมในตลาดสด เน่าในขวด 3 เดือน / ต้นหอมปลูกเอง เน่าในขวด 3 เดือน
เมื่อเห็นการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างทั้งกายภาพและกลิ่น ทำให้ตลาดสดที่เคยไปก็ยังไม่ใช่คำตอบของแหล่งอาหารเพื่อคุณภาพชีวิตดีตามที่เราต้องการ อย่างไรก็ดี เราก็ยังไม่ถึงกับเจอทางตัน เพราะปัจจุบันมนุษย์จำนวนมากได้รับผลกระทบจากอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมีจนเกิดภาวะเจ็บป่วย เช่น มะเร็ง ภูมิแพ้ กินยารักษาตัวก็ไม่ดีขึ้นหรือฟื้นตัวได้ยาก ถ้ายังกินอาหารที่มีสารเคมีปนเปื้อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลงตกค้างจากกระบวนการปลูก ฟอร์มาลีนที่แอบใช้ตามตลาดสดเพื่อถนอมผักปลาบนแผงไม่ให้เน่าเสียเร็วก่อนขาย สารสังเคราะห์ต่างๆ ที่ใส่ในเครื่องปรุงที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม จึงทำให้มีกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการอาหารปลอดภัยเพิ่มสูงขึ้น ใกล้และสะดวกที่สุดคือการหันมาพึ่งพาตนเองด้านการปลูกผัก มีเหลือแบ่งขายหรือแบ่งปัน แต่นั่นก็ยังไม่มีความหลากหลายของสารอาหารเพียงพอสำหรับการบริโภคในทุกมื้อทุกวัน โชคดีที่ยังมีเกษตรกรคนรุ่นใหม่หันมาทำเกษตรอินทรีย์ และมีการรวมกลุ่มจัด “ตลาดทางเลือก” เพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อสินค้าปลอดภัยอย่างมั่นใจได้ ตลาดนี้มีชื่อว่า “ปันอยู่ปันกิน”
ผู้เขียน
นุ๋น - ณัฐคนางค์ ปรีชาบริสุทธิ์กุล
เกษตรกร / ผู้ผลิตอาหารปลอดภัย / ผู้ผลิตแชมพูและสบู่ธรรมชาติ / วิทยากรด้านการพึ่งพาตนเอง
Kommentare