top of page

เกษตรกรรมยั่งยืน คืนชีวิตให้โลกของเรา


‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ คำนี้มาจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นรูปแบบการพัฒนาที่เน้นให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และนำไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งในภาคของการเกษตรนั้น การพัฒนาให้เกิด ‘เกษตรกรรมยั่งยืน’ นับเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนควรร่วมมือ และผลักดันให้เกิดขึ้น



ประเทศไทยมีสภาพพื้นที่เป็นแหล่งเพาะปลูกชั้นเยี่ยมมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แต่น่าเศร้าที่ยิ่งนานวันความเสื่อมโทรมก็เพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงเสื่อมโทรมจากปัจจัยภายนอก เช่น ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า แปลงพื้นที่เป็นที่อยู่อาศัย ห้างสรรพสินค้า หรือโรงงานอุตสาหกรรม ที่ทำให้พื้นที่การเกษตรลดน้อยลง แต่จากตัวเกษตรกรเอง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องก็ล้วนมีส่วนทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่เคยมีมาอย่างอุดมสมบูรณ์ต้องลดน้อยและเสื่อมโทรมลง โดยเฉพาะปัญหาการเร่งผลผลิตเพื่อให้ทันตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคด้วยการใช้สารเคมี สิ่งที่ตามมาคือการเสียสมดุลในระบบนิเวศ นอกจากดินเสีย น้ำเสีย ยังส่งผลเสียย้อนกลับมาถึงตัวผู้บริโภคและเกษตรกรเอง การเร่งผลผลิตจึงกลายเป็นการเร่งให้เกิดการขาดทุนทางอ้อม นานวันเข้าเกษตรกรเกิดหนี้สิน คุณภาพชีวิตตกต่ำลง ผู้บริโภคก็เกิดโรคภัยที่ค่อยๆ สะสมมาโดยไม่ทันระวัง


ดินที่เสีย น้ำที่เสีย สุขภาพที่เสีย..​ โชคยังดีที่หลายคนเริ่มตระหนักขึ้นได้ กระแสการย้อนกลับไปใช้วิถีธรรมชาติที่บรรพบุรุษเราทำมาแต่เนิ่นนานเริ่มเกิดขึ้น นั่นคือการทำเกษตรอินทรีย์ หนึ่งในวิถีเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อที่จะยืดชีวิต ยืดลมหายใจ ยืดอายุขัยของแหล่งอาหารให้สามารถเลี้ยงดูชีวิตมนุษย์ได้นานขึ้น



การเริ่มต้นทำเกษตรอินทรีย์ต้องใช้เวลา เพราะพื้นที่ที่แต่เดิมเคยปนเปื้อนด้วยสารเคมีต้องมีเวลาให้ดินได้พัก ให้สารเคมีเจือจางไปก่อนจึงเริ่มเพาะปลูกใหม่ หลายคนอาจเกิดความท้อถอยตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม แต่ถ้าได้เริ่มแล้วเชื่อเถอะว่าผลที่ตามมามันคุ้มค่าไม่น้อย ช่วงแรกอาจจะยากกับการปรับตัว เหนื่อยล้ากับผลผลิตที่น้อยลงกว่าที่เคยได้ แต่การได้มาซึ่งผลผลิตที่ทุกคนในบ้านสามารถมั่นใจว่ารับประทานได้อย่างปลอดภัยมันก็นับว่าคุ้มค่านะ อีกทั้งสมัยนี้ช่องทางในการค้าขายเข้าถึงลูกค้าก็ง่ายขึ้น จากเคยถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา การเข้ามาของอินเตอร์เน็ตก็ช่วยให้สามารถขายผลผลิตให้กับผู้บริโภคได้โดยตรง เกษตรกรบางรายสามารถผูกปิ่นโตกับผู้บริโภค เกิดรายได้ที่มั่นคงในทุกเดือน หรือบางรายก็เปิดฟาร์มให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้โดยไม่ต้องวิ่งเอาสินค้าไปขายเสียอีก ผักผลไม้ที่เหลือกินเหลือเก็บยังสามารถนำมาแปรรูปผลผลิต เป็นทั้งของกินของใช้ได้อีกด้วย



หากอยากจะหันมาทำเกษตรกรรมยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน่วยงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืนที่พร้อมให้คำปรึกษาโดยตรง ภายใต้ชื่อ ‘กองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน’ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่


หวัง.. ว่าในอีกห้าปีสิบปีข้างหน้า เราจะได้เห็นพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนที่เพิ่มมากขึ้น เห็นเกษตรกรมีความสุขมากขึ้น ทั้งจากรายได้ที่มั่นคงและชีวิตที่ปลอดภัย เห็นผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดีขึ้น มีอาหารที่ดีรับประทานตลอดทั้งปี และเห็นโลกใบนี้มีชีวิตชีวา กลับมามีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น.. เราหวังอย่างนั้นจริงๆ





 


ผู้เขียน

ปารณีย์ เลิศวัฒนาสมบัติ

นักเขียนอิสระ



62 views

Komentarai


bottom of page