ถึงวันนี้กระแสข่าวไฟป่าครั้งใหญ่ในอเมซอนดูจะถูกดับไปแล้วบนพื้นที่ข่าว ด้วยกระแสน้ำที่ท่วมท้นบนแผ่นดินอีสาน และข่าวอื่นๆ แต่ถึงข่าวคราวจะหายไป (ผมภาวนาว่าอาจเป็นเพราะเปลวไฟดับลงได้เสียที) ความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นี้ได้ทิ้งอะไรไว้ให้เราได้คิดทบทวน โดยมีเถ้าถ่านของสัตว์มากมายและต้นไม้เป็นพยาน การเกิดไฟป่าแท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับธรรมชาติ อ่านไม่ผิดครับ มิหนำซ้ำยังเป็นสิ่งสำคัญในวัฎจักรความเป็นไปของป่าบางแห่ง เช่น ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังเสียด้วย เมล็ดหญ้าที่สัตว์หลายชนิดเฝ้ารอจะแทะเล็มบางชนิดถูกกระตุ้นความงอกด้วยเปลวไฟ นี่คือความจริง แต่เป็นเรื่องที่จะเกิดเมื่อธรรมชาติเป็นผู้จุดไฟด้วยตัวเอง ไม่ใช่ฝีมือมนุษย์
ท่ามกลางความเป็นห่วงจากผู้คนทั่วโลกถึงการมอดไหม้ของป่าอเมซอน เพราะคิดว่าป่าผืนนี้เป็นเสมือน “ปอด” ประจำดาวเคราะห์ แต่บราซิลหรือต้องบอกให้แคบลงว่ารัฐบาลของประเทศบราซิลอันเป็นประเทศที่ป่าอเมซอนแผ่พื้นที่ในประเทศมากที่สุดกลับมีท่าทีที่เชื่องช้า และคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดในบ้านของตัวเองเสียมากกว่าจนเพิกเฉยความช่วยเหลือ หลายคนรวมถึงผมรู้สึกกังวล และสงสัยว่าเพราะเหตุใดรัฐบาลประเทศบราซิลถึงมีท่าทีเช่นนี้
จนกระทั่งสำนักข่าวหลายแห่งพยายามป่าวประกาศความจริงว่าไฟป่าครั้งนี้เป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลที่แผ้วถางป่าและเปลี่ยนพื้นที่ให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ
จากข้อมูลข่าวสารเรื่องนโยบายนี้ทำให้รู้อีกว่า บราซิล เป็นประเทศที่ดำรงฐานะผู้ส่งออกเนื้อวัวมากที่สุดในโลกเป็นปีที่สามแล้ว และดูทีท่าว่าจะพยายามครองตำแหน่งนี้ออกไปเรื่อยๆ สอดรับกับความต้องการบริโภคเนื้อในตลาดโลกกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น บราซิลจึงพยายามขยายปริมาณการเลี้ยงวัวเนื้อ และเมื่อเลี้ยงวัวเพิ่มขึ้น อาหารสัตว์ เช่น ถั่วเหลือง ก็ต้องใช้มากขึ้นตามไปด้วย นี่คือเหตุผลของการนำไปสู่เปลี่ยนป่าดิบให้กลายเป็นทุ่งอาหารสัตว์นั่นเอง (เขียนถึงตรงนี้ ผมยอมรับว่ากำลังนึกถึงทุ่งข้าวโพดอาหารสัตว์บนเขาหลายลูกที่ภาคเหนือของบ้านเรา)
ดูเหมือนว่าการเป็นหนึ่งในเรื่องปริมาณการส่งออก จะกลายเป็นสิ่งเสพติดไปแล้วในบางประเทศไปเสียแล้ว แม้กระทั่งประเทศไทยของเราเอง ตั้งแต่เด็กจนโต ผมรับรู้มาตลอดทั้งที่บ้านและโรงเรียนว่า ประเทศไทยของเราพยายามอย่างมากที่จะเป็นผู้ส่งออกที่มีปริมาณมากที่สุดของโลกในทุกๆ ปี ประเทศของเราภูมิใจกับตำแหน่งที่ได้รับนี้มาก จนบางปี เมื่อตำแหน่งถูกยกให้ประเทศอื่น คนไทยหลายคน ผู้ใหญ่รอบตัวผมรู้สึกเป็นกังวล เศร้าใจเหมือนกับการพ่ายแพ้ครั้งนี้เป็นเรื่องคอขาดบาดตายกันเลยทีเดียว
มุ่งมั่นขนาดนี้ ถามว่าประเทศไทยที่เป็นที่หนึ่งบนเวทีนี้ในทุกๆ ปี คนในประเทศของเราได้อะไรเป็นผลตอบแทนบ้าง ประเทศไทยส่งออกข้าวมากมายทุกปี แต่ประเทศไทยก็ยังต้องรับมือกับปัญหาราคาข้าวตกต่ำจนต้องประกันจนต้องจำนำราคากันตลอด ชาวนาขายข้าวมากมายทุกปี แต่หนี้สินก็ยังคงท่วมตัว ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ พยายามปลูกให้ได้ผลผลิตมากๆ เพื่อดำรงความเป็นที่หนึ่ง หรือเพื่อทวงความเป็นที่หนึ่ง ก็ต้องปลูกให้มากรอบขึ้น ต้องใช้ยาใช้สารเคมีมากขึ้น ไม่พอเท่านั้น ที่ปลูกพืชในที่ตัวเองเต็มแล้วก็แอบถางป่าเพิ่มอีก สุขภาพคนปลูกคนกินเสียหาย ธรรมชาติเสียหาย ทั้งไฟป่า น้ำท่วม หรือน้ำเน่าเสีย เป็นข่าวให้เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ ส่งออกมาก คนกินจะมากตามหรือเปล่า ผมยังคงสงสัยจนถึงทุกวันนี้ ยิ่งส่งออกมากแล้วราคายิ่งถูก นั่นหมายความว่าต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ผิดพลาดเสียแล้ว
บางครั้งพวกเราคงต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งว่า การเป็นที่หนึ่งในสนามที่แข่งกันเรื่องปริมาณ ไม่ใช่แค่ข้าวเท่านั้น สินค้าทางการเกษตรอื่นๆ ด้วย เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ ถ้าแข่งแล้วไม่เกิดผลดี หรือเกิดผลน้อยจนไม่คุ้มค่า ยังควรจะปฏิบัติตัวไปอย่างนี้ต่อไปไหม อย่าลืมว่าส่งออกอาหารไม่ได้มีแค่เพียงเรื่องปริมาณ คุณภาพก็สำคัญ ไม่ดีกว่าหรือที่ประเทศไทยของเราจะผลิตสินค้าเกษตรที่ปลูกอย่างพิถีพิถันและปลอดภัย ไร้สารเคมี มีรสชาติอร่อยจนหลายคนติดใจ และเฝ้ารอที่จะซื้อกินอย่างใจจดใจจ่อเพราะปริมาณที่ได้มีไม่มากพอสำหรับทุกคน แบบนี้ก็สามารถเป็นเสน่ห์ของข้าวและพืชผักผลไม้อื่นๆ จากประเทศไทยได้เหมือนกันไม่ใช่หรือ
ผู้เขียน
เพียรชัย มากมี
นักเขียนอิสระ
Comments