top of page

วัตถุดิบบ้านฉันในญี่ปุ่น



การใช้ชีวิตในต่างแดนมันไม่ยากและมันก็ไม่ง่าย หากเรารู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาวะความเป็นอยู่ฉันเชื่อว่าไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใดก็ตามในโลกนี้ เราสามารถใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุขและยั่งยืนได้นะ แม้บางครั้งอาจจะไม่สุขสบายเหมือนอย่างบ้านเมืองที่ฉันเกิดก็ตาม แต่ฉันเชื่อว่าในเมื่อมนุษย์ปุถุชนเขาอยู่กันได้ ฉันก็ต้องอยู่อย่างมีความสุขให้ได้เช่นกันและเมื่อฉันต้องมาเป็นแม่บ้านในญี่ปุ่น นอกจากเรื่องการปรับตัวกับสิ่งต่างๆ ที่ต้องเจอแล้ว เรื่องอาหารการกินก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับฉันเช่นกัน


จากสาวออฟฟิศผู้ที่สนิทสนมกันดีกับกับข้าวถุง แวะพักพุงเป็นประจำกับร้านอาหารข้างบ้าน ขนาดทำไข่เจียวยังไม่อร่อยนับประสาอะไรกับทักษะการทำอาหารอื่นๆ แน่นอนค่ะ นี่คงเป็นปัญหาระดับชาติที่ฉันต้องเผชิญในช่วงเริ่มต้นชีวิตครอบครัวในต่างแดน วิชาการทำอาหารของฉันเริ่มต้นจากการดูวิดิโอสอนทางออนไลน์โดยปรมารจารย์ชั้นครูทั่วทุกสารทิศที่ถ่ายทอดให้ชม ซึ่งเป็นองค์ความรู้คู่ครัวคนไกลบ้านอย่างยิ่ง ทักษะการทำอาหารของฉันก็เริ่มจะดีขึ้นพอๆ กับความสามารถในการหาวัตถุดิบของไทยในญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน



หากย้อนไปสัก 8 ปีก่อน ในช่วงเวลาที่ฉันเพิ่งจะมาอยู่ที่ญี่ปุ่นใหม่ๆ ที่ดูเหมือนอะไรๆ ก็แพงไปเสียหมด โดยเฉพาะพืชผักไทยๆ ที่ราคาแทบจะจับต้องไม่ได้เลย จากผักชีที่เมืองไทยขายอยู่กำละไม่ถึง 20 บาท แต่พอย้ายฝั่งมาขายที่ญี่ปุ่นราคาก็พุ่งพรวดไปเกือบกำละ 100 บาท จากอาการที่เรียกว่า Culture shock ก็ยิ่งทำให้ช็อกเข้าไปอีก แพงในแพงอย่างที่เคยกล่าวเอาไว้


สำหรับในช่วงนั้นฉันพยายามที่จะเลือกใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น พยายามหาเมนูที่คนท้องถิ่นเขากินกันมาหัดทำแบบง่ายๆ เช่น ซุปมิโสะ, ข้าวแกงกะหรี่, ยากิโซบะ, ข้าวหน้าหมูผัดขิง ฯลฯ แต่สำหรับเมนูอาหารไทยในช่วงนั้นคือไกลตัวฉันมากจริงๆ เหตุด้วยวัตถุดิบที่แพง และยังทำใจไม่ได้หากต้องจ่ายเงินหลายเท่าตัว ฉันเลยเลือกที่จะอดทนไว้กลับไปกินที่เมืองไทยแทน แต่วิธีการนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนสักเท่าไรนัก ครั้นจะปลูกกินเองก็ติดหลายๆ ปัจจัย ด้วยทักษะอันน้อยนิดกับการปลูกพืชผักสวนครัวที่ฉันมี พื้นที่ภายในห้องพักเล็กๆ แคบๆ ของฉัน สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยสำหรับการปลูกผักเมืองร้อน ฉันเลยต้องพับโครงการนี้เอาไว้เสียก่อน แล้วเลือกหาซื้อวัตถุดิบที่นี่ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ดีสำหรับฉันที่สุดแล้ว



ฉันก็ยังถือว่าโชคดียังมีเข้าข้างอยู่บ้าง เพราะเมื่อ 3-4 ปีก่อนหน้านี้ ที่ญี่ปุ่นเกิดกระแส “ผักชีฟีเวอร์” เลยส่งผลให้อาหารไทยได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกผักชีกันมากขึ้นและก็สามารถหาซื้อได้ง่ายตามซุปเปอร์มาร์เกตทั่วๆ ไป และที่สำคัญราคาก็ไม่ได้แรงเหมือนอย่างเมื่อ 8 ปีก่อน และจากช่วงผักชีฟีเวอร์เลยทำให้มีสินค้าต่างๆ ที่ทำในรสชาติผักชีออกมาวางจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย เช่น ช็อกโกแลตรสชาติผักชี, ลูกอมผักชี ฯลฯ ช่างเป็นสินค้าที่ฉันเกิดมาก็เพิ่งจะเคยเห็นนี่ล่ะค่ะ แต่คนญี่ปุ่นก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะคลั่งไคล้ผักชีกันนะ บางคนที่ชอบก็สุดโต่ง ส่วนบางคนที่ไม่ชอบนี่ก็สุดติ่งเช่นกันแค่ได้กลิ่นผักชีก็มีอาการเหม็นมึนแล้วล่ะค่ะ

นอกจากกระแสผักชีที่ฟีเวอร์แล้ว ยังส่งผลให้เมนูอาหารไทยได้รับความนิยมในญี่ปุ่นไปด้วย เช่น ผัดกะเพรา, ต้มยำกุ้ง ที่ถูกนำมาทำเป็นเมนูขึ้นโต๊ะในร้านอาหารญี่ปุ่น ถึงแม้ว่ารสชาติอาจจะไม่เหมือนต้นฉบับแท้ๆ แต่พวกเขาก็ทำได้ไม่เลวเลยทีเดียว เพื่อนคนญี่ปุ่นแนะนำฉันว่า พวกเขาใช้ใบโหระพา หรือ Sweet Basil แทนการใช้ใบกะเพรา ซึ่งก็ถือว่าเป็นไอเดียที่ดีเพราะหาซื้อง่ายและราคาก็ไม่แพงจนเกินไป จริงๆ ที่ญี่ปุ่นก็มีร้านนำเข้าผักไทยด้วยเช่นกัน หากบ้านอยู่ใกล้ๆ ก็คงจะดีแต่สำหรับฉันมองว่าเราคงจะไปซื้อทุกวันไม่ได้หรอก เพราะผักนำเข้าก็ไม่ได้มีราคาที่ถูกมากนัก พอรวมกับค่าเดินทางหรือค่าจัดส่งที่สั่งซื้อทางออนไลน์ก็ยังมีราคาสูงอยู่ดี ฉันเลยเลือกที่จะใช้พืชผักอื่นที่พอจะทดแทนกันได้ เช่นใช้ใบโหระพาแทนใบกะเพรา สำหรับฉันเพียงแค่นี้ก็ถือว่าเป็นการเติมเต็มมื้ออาหารไทยของฉันได้อย่างมีความสุขแล้ว



พอพูดถึงผักฉันเลยนึกถึง “ใบสะระแหน่” หรือ Mint สำหรับคนไทยถ้าพูดถึงใบสะระแหน่ฉันจะนึกถึง “เมนูลาบ” ที่เป็นอาหารคาว แต่สำหรับคนญี่ปุ่นจะนึกถึง “เมนูของหวาน” หรือไม่ก็ “เครื่องดื่ม” เพื่อนคนญี่ปุ่นของฉันเล่าให้ฟังว่า เธอตกใจมากเมื่อเห็นใบสะระแหน่มาอยู่บนจานอาหารคาว ก็อาจจะเป็นวัฒนธรรมการกินอาหารที่แตกต่างกันก็เป็นได้ สำหรับใบสะระแหน่ที่ญี่ปุ่นก็มีวางจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เกต แต่ไม่ใช่กำใหญ่ๆ เหมือนอย่างบ้านเรา แต่เป็นการเด็ดใบแล้วนำบรรจุลงในถุงเพื่อจำหน่ายอย่างเรียบร้อยสวยงาม


สำหรับในปัจจุบันนี้ พืชผักวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารไทยก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะตามหา เพราะมีการปลูกเพื่อจำหน่ายทั้งในญี่ปุ่นเองและนำเข้าจากไทย ซึ่งหาซื้อได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมากๆ ทั้งผักชี, ผักบุ้ง, มะละกอ, ตระไคร้ ฯลฯ และรวมถึงเครื่องปรุงรสต่างๆ ก็หาซื้อได้ง่ายกว่าเดิมมากๆ มีจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เกตทั่วๆ ไป และร้านซุปเปอร์มาร์เกตเฉพาะ ทั้งไทย จีน เวียดนาม ก็มีสินค้าไทยจำหน่ายด้วยเช่นกัน แม้ราคาอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละร้าน แต่ก็ถือว่ายังเป็นราคาที่รับได้โดยที่ไม่ต้องหอบหิ้วมาจากเมืองไทยให้หนักกระเป๋า


จากที่ตอนอยู่เมืองไทยต้องคอยพึ่งพาร้านอาหารข้างบ้านที่ไม่สามารถรู้ได้ว่าปรุงจากวัตถุดิบที่มีที่มาอย่างไร ทุกวันนี้การได้ทำอาหารกินเองนับเป็นเรื่องดีๆ ที่ทำให้ฉันได้คัดเลือกวัตถุดิบทุกชิ้นด้วยตัวเอง สร้างความมั่นใจว่าสิ่งที่ฉันและสามีรับประทานเข้าไปในแต่ละวันทำมาจากวัตถุดิบที่ปลอดภัย จริงๆ ไม่เฉพาะคนที่มาอยู่ไกลบ้านเกิดอย่างฉัน แต่ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม การได้ทำอาหารรับประทานเองนอกจากมั่นใจในความปลอดภัยแล้ว สิ่งสำคัญกว่าฉันว่ามันคือการได้แสดงออกถึงความรักความใส่ใจกันและกัน ผ่านมื้ออาหารที่เรารับประทานในแต่ละวันนั่นแหละค่ะ



 


ผู้เขียน

อุบลทิพย์ เศรษฐสักโก

TKLS สาวแซ่บแห่งไซตามะ / เจ้าของเพจครบเครื่องเรื่องญี่ปุ่น



645 views

Comments


bottom of page