หากเคยดูการ์ตูนญี่ปุ่น ซีรีย์ญี่ปุ่น หรือหนังญี่ปุ่น มักจะต้องมีฉากหนึ่งที่ “แม่” เป็นคนทำอาหารให้ทุกคนในครอบครัวกินในทุกๆ มื้อ คนญี่ปุ่นชอบทำอาหารกินกันเองที่บ้าน น้อยครั้งที่จะออกไปกินข้าวนอกบ้าน เว้นเสียแต่ว่าจะมีโอกาสพิเศษ เช่น วันเกิด วันครบรอบเฉลิมฉลอง ฯลฯ ด้วยเหตุเพราะสภาพเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพสูง การทำอาหารกินเองก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้ การออกไปกินข้าวนอกบ้านนอกจากจะเพิ่มรายจ่ายในเรื่องค่าอาหารและค่าเดินทางแล้ว อีกอย่างที่คนญี่ปุ่นกังวลกันก็คือ เรื่องการแพ้อาหาร คนญี่ปุ่นแพ้อาหารกันเยอะ การทำอาหารกินเองก็สามารถควบคุมคุณภาพอาหารที่กิน และมั่นใจได้ว่าวัตถุดิบที่แม่เลือกนั้น “ปลอดภัย” และกินได้อย่างสบายใจ
ฉันเคยสงสัยว่าเวลาที่คนญี่ปุ่นไปกินข้าวนอกบ้าน บางครั้งอาหารเหลือทำไมคนญี่ปุ่นไม่หอบใส่ถุงใส่กล่องกลับมาที่บ้านเหมือนอย่างคนไทย หรือทำไมเวลาที่คนญี่ปุ่นไปกินราเมนที่ร้านแล้วไม่ซื้อกลับมาฝากคนที่บ้านบ้าง เพื่อนคนญี่ปุ่นของฉันเล่าให้ฟังว่า คนญี่ปุ่นจะไม่นำอาหารที่เหลือจากการกินในร้านกลับบ้าน และไม่นิยมซื้อราเมนจากร้านที่กินกลับไปฝากคนที่บ้าน เนื่องจากบางร้านไม่อนุญาต เพราะเกรงว่าอาหารที่ห่อกลับไปแล้วถ้านำไปกินที่บ้านรสชาติอาจจะไม่อร่อยเหมือนกับกินที่ร้าน วัตถุดิบอาจจะไม่สด ใหม่ หรือนำกลับไปอุ่นเองแบบไม่ถูกวิธีก็จะทำให้คุณภาพอาหารนั้นไม่เต็ม 100% เหมือนอย่างกับกินที่ร้าน และลูกค้าบางคนกินแล้วเกิดอาการท้องเสียก็อาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีต่อภาพลักษณ์ของทางร้าน ดังนั้น ร้านอาหารหรือร้านราเมนในญี่ปุ่นส่วนใหญ่เลยตัดปัญหาโดยการไม่อนุญาตให้ห่อกลับ และไม่ขายแบบนำกลับบ้าน ถ้าอยากกินต้องมากินที่ร้านเอง นี่คงเป็นอีกหนึ่งความใส่ใจที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของคนญี่ปุ่นเลยล่ะค่ะ
ภาพจำอาหารญี่ปุ่นสำหรับฉันคิดไว้ว่าคนญี่ปุ่นจะต้องกินแต่ซูชิ ไม่ก็ปลาดิบเป็นอาหารหลักทุกมื้อ แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ฉันคิด เพราะอาหารญี่ปุ่นที่คนญี่ปุ่นกินกันเป็นประจำทุกวันก็ไม่ได้แตกต่างจากอาหารไทยสักเท่าไรนัก เพราะพวกเขาก็กินข้าวเป็นอาหารหลัก มีกับข้าวเป็นเนื้อสัตว์หรือปลา มีผักสลัดหรือผักดอง และซุปมิโสะ โดยมากเมนูอาหารก็จะเปลี่ยนไปตามแต่ฤดูกาล เช่น ช่วงหน้าหนาวก็จะเป็นเมนู หม้อร้อน เช่น ชาบู, นาเบะ, โอเด้ง ฯลฯ ช่วงหน้าร้อนก็จะเป็นเมนูที่กินแล้วจะช่วยให้ร่างกายรู้สึกเย็น เช่น โซวเมน, หมี่เย็น, แตงกวาดอง ฯลฯ อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญในการทำอาหารตามฤดูกาลคือเรื่องของวัตถุดิบ ผลผลิตเกษตรอินทรีย์คือพืชผลที่เติบโตโดยธรรมชาติ ไม่ถูกเร่งด้วยสารเคมี การทำอาหารด้วยวัตถุดิบตามฤดูกาลทำให้มั่นใจได้ว่าวัตถุดิบนั้นมีที่มาอย่างปลอดภัย
คนญี่ปุ่นจะมีการจัดเตรียมอาหารในแต่ละสัปดาห์ที่ต้องวางแผนเอาไว้ล่วงหน้า เพื่อเป็นการประหยัดทั้งเงินและเวลาอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ซื้อกะหล่ำปลีมา 1 หัว โดยจะมีการแบ่งออกเป็นส่วนๆ ในแต่ละส่วนจะนำไปทำเป็นสลัดผักสด, นำไปผัดกับเนื้อสัตว์ และนำไปทำผักดอง ซึ่งแน่นอนว่าการซื้อกะหล่ำปลีมาทั้งหัว ราคาย่อมถูกกว่าการซื้อมาเพียงแค่ส่วนเดียว ดังนั้นแม่บ้านญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องวางแผนไว้ล่วงหน้าก่อนว่าในแต่ละมื้อนั้นจะทำอาหารอะไรบ้าง
หากว่าบ้านไหนต้องทำข้าวกล่องอาหารกลางวัน (เบนโตะ) สำหรับสามีและลูกแล้ว งานของแม่บ้านก็คงจะหนักหนาน่าดูเชียว การวางแผนล่วงหน้าสำหรับการจัดเตรียมอาหารถือว่าเป็นทางออกที่ดีเพราะไม่ใช่แค่ว่าอาหารต้องครบโภชนาการ แต่ในส่วนการตกแต่งให้สวยงามน่ารับประทานก็เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนกันอีกด้วย เคยได้ยินเพื่อนคนญี่ปุ่นบอกว่า “เบนโตะ” เป็นเหมือนกับจดหมายที่คนทำ (แม่) จะสื่อสารส่งข้อความบอกกับลูกหรือสามีในวันนั้นๆ เช่น ช่วงเวลาสอบของลูกๆ หรือวันสำคัญของพ่อบ้านที่ต้องไปพรีเซ้นต์งาน แม่บ้านญี่ปุ่นก็มักจะทำอาหารที่เห็นแล้วมีกำลังใจที่ถือว่าเป็นเคล็ดและโชคดีสำหรับวันสำคัญ เช่น ทงคัตสึ, คัตสึด้ง ซึ่งชื่อของเมนูอาหารนั้นไปพ้องเสียงกับคำว่า “คัตสึ” (勝つ ,Katsu) ที่มีความหมายว่า “ชนะ” หรือ “นัตโตะ” (なっとう) ถั่วเหลืองหมักอาหารพื้นเมืองของคนญี่ปุ่นนิยมกินเป็นอาหารเช้า จะมีลักษณะยืดและเหนียว ให้โปรตีนสูงและดีต่อร่างกาย ซึ่งความเหนียวๆ หนืดๆ ของนัตโตะนั้น ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า เนะบะ เนบะ (ネバネバ) ซึ่งไปพ้องเสียงกับคำว่า “Never” ในภาษาอังกฤษแต่คนญี่ปุ่นจะออกเสียงเป็น “เนบะ” ซึ่งมีความหมายว่า Never Give up! หรือ อย่ายอมแพ้.. คงจะจริงกับคำพูดที่ว่า “ความรักของแม่ เริ่มต้นจากในครัว” นี่คงเป็นตัวอย่างความใส่ใจเล็กๆ ที่มีให้กันของคนในครอบครัว
ผู้เขียน
อุบลทิพย์ เศรษฐสักโก
TKLS สาวแซ่บแห่งไซตามะ / เจ้าของเพจครบเครื่องเรื่องญี่ปุ่น
Comments