top of page

เกษตรบันดาลใจในต่างแดน : ยุฟุอิน #2



‘ปลูกที่บ้าน ขายที่บ้าน งานที่มีความสุข’

เราได้รู้จักข้อมูลคร่าวๆ จากตอนที่แล้ว คราวนี้เราอยากมาเล่าเรื่องที่เป็นความใฝ่ฝันของคนที่ทำงานมาเป็นสิบปีอย่างเรา ใช่แล้ว ตามชื่อตอน ‘งานที่มีความสุข’ งานของคนพื้นที่ในเมืองนี้มีประมาณ 3 อาชีพหลักๆ เลย คือ เกษตรกร ร้านค้าและงานบริการที่พัก ที่นี่แทบจะเป็นเมืองในฝันของใครหลายๆ คนที่มีชีวิตเรียบง่าย ตื่นเช้าดูแลพืชพรรณและผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ สายๆ เอาออกมาขาย เย็นปิดบ้านนอน.. และที่นี่ความน่ารักอีกอย่างคือ นาฬิกาเมือง ที่ว่านาฬิกาคือไม่ใช่หอนาฬิกานะ จริงๆ แล้ว ร้านค้า โรงแรม จะเปิดปิดเวลาเดียวกันทั้งเมืองคือตอน 6:00 น. จะมีวิทยุกระจายเสียงเปิดเพลงปลุกทั้งเมืองเป็นเพลงน่ารักนะ และเวลาขายของร้านรวงจะเปิดพร้อมๆ กันคือเวลา 9:30 - 17:30 น. นั่นหมายความว่าเราต้องปรับเวลาการกินอาหารในฐานะนักท่องเที่ยวตามไปด้วย



ตอนสายๆ หลังจากทานอาหารเช้าเราเลือกปั่นจักรยานออกไป เลยถนนสายชอปปิ้งไปเพียง 3 นาที เมืองที่ล้อมด้วยหุบเขาแห่งนี้มีทั้งนา ทั้งสวน และแปลงผักออร์แกนิกที่เกษตรกรปลูกกันแบบจริงจัง แล้วเอามาส่งในย่านร้านอาหารและแหล่งชอปปิ้งก่อนเวลาเปิด เราจึงเห็นคาเฟ่ และร้านอาหารเกือบทุกร้าน ให้บริการส่วนอาหารประมาณ 10:30 น. เพื่อให้เกษตรกรเอาผลผลิตมาส่งก่อน แต่ไม่ใช่ว่าจะส่งตรงจากเกษตรกรโดยไม่มีตลาดนะ ช่วง 3 วัน ในยุฟุอินเราไม่ได้เห็นตลาดเช้า แต่เห็นร้านขายผักและของสดอยู่ตามรายทางเป็นระยะๆ ในร้านจะเห็นทั้งผัก ผลไม้ เครื่องปรุง ให้บ้านใกล้เรือนเคียงมาซื้อ หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวอย่างเราได้แวะไปซื้อกินกันได้สดๆ เลย



เมื่อพูดถึงของสดๆ เราเองก็แอบชอบในไอเดียการขายน้ำส้มที่นี่มากๆ คือการเจาะรูส้มสดๆ ที่เกษตรกรส่งตรงมายังร้านค้าฟู้ดทรัคในย่านถนนคนเดินกลางเมือง เจ้าของร้านจะล้างทำความสะอาดแล้วแช่ส้มสดๆ เย็นเจี๊ยบ พอลูกค้ามาสั่ง แม่ค้าจะคว้านจุกส้มเพื่อดึงแกนส้มออก จากนั้นใช้เครื่องปั่นที่มีลักษณะเหมือนใบมีดเข้าไปปั่นทั้งน้ำและกาก ละเอียดยิบ เสิร์ฟสดๆ ในราคา 500 เยน ยืนดูดกันหน้าร้าน เมื่อทานเสร็จเปลือกส้มที่ใช้เป็นภาชนะจะเอาไปวางในถาดใส พอตกเย็นปิดร้าน จะมีเกษตรกรมาขอแบ่งส่วนหนึ่งเอาไปหมักเป็นปุ๋ย อีกส่วนแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเปลือกส้มมากมาย ทั้งดอง อบแห้ง ตามสูตรที่แต่ละบ้านจะสรรหากันมาได้ ที่นี่เลยแทบจะไม่มีขยะสดทิ้งเลย ครบวงจรทั้งอาชีพและระบบนิเวศน์ชุมชน



และอย่างที่บอก ปลูกเอง ขายเอง ไม่ต้องออกจากเมืองกันไปไหน เพราะในแต่ละปียุฟุอินมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมายลโฉมเมืองกสิกรรมและปฏิรูปชุมชนเป็นอาชีพแห่งนี้ ปีละหลายล้านคน ผ่านทางรถไฟที่ขึ้นชื่อว่า สวยที่สุดในญี่ปุ่น Yufuin no Mori ที่แล่นผ่าน 3 เมืองเกษตรกรรมแห่งเกาะคิวชู คือ ฟุกุโอกะ ยุฟุอิน และเบปปุ ทำให้เกษตรกรเพียงใส่ใจ ตั้งใจรักษาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร การแปรรูป (ซึ่งจะมาเล่าให้ฟังในตอนหน้า) เพียงแค่นี้ งานที่ตื่นขึ้นมาจากที่บ้าน ทำงานที่บ้าน และได้อยู่ที่บ้าน อาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ใครหลายคนอิจฉาแล้ว



เล่าถึงแนวคิดของการทำเกษตรในประเทศญี่ปุ่นสักนิด การเกษตรในญี่ปุ่น รัฐบาลมีการสนับสนุนการทำการเกษตร เนื่องจากภูมิประเทศญี่ปุ่นเป็นเกาะปิด จึงต้องเน้นแหล่งอาหารในประเทศ สร้างความมั่นคงทางอาหาร และด้วยระบบภาษีที่ดิน ที่ใครมีที่ดินเปล่าจะต้องถูกเก็บภาษีในอัตราที่แพงมาก ที่ดินจึงไม่ถูกปล่อยว่างไปเปล่าๆ ชาวนาญี่ปุ่น บางคนไม่ได้ทำนาตลอดทั้งปี เป็นแค่งานพาร์ทไทม์ของคนมีที่ดิน และที่ดินของแต่ละครอบครัวจะมีไม่มาก ไม่ได้เยอะเป็นสิบๆ ไร่แบบคนต่างจังหวัดบ้านเรา เขาจึงใช้เวลาในการทำนาไม่มาก มีการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยตั้งแต่การดำนา จนถึงการเก็บเกี่ยว สีข้าว มีระบบชลประทานที่ดี ส่งตรงถึงที่นา ไม่ต้องรอฟ้า รอฝน สิ่งที่ช่วยพัฒนาการเกษตรในญี่ปุ่น คือการรวมตัวกันของเกษตรกรในรูปแบบสหกรณ์ (JA) เพิ่มอำนาจต่อรอง และตัดตอนพ่อค้าคนกลาง มีการจัดการผลผลิตที่ดี ไม่แย่งกันปลูกจนสินค้าล้นตลาด และโดยนิสัยคนญี่ปุ่นนั้นชอบที่จะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ ขายได้ราคา



สำหรับเราประเทศไทยเอง มีรถไฟสายวัฒนธรรมที่พาเราไปยังเมืองเก่าหลายที่เลย เราคิดว่ารถไฟในสมัยโบราณเคยทำหน้าที่ขนส่งสินค้าเกษตรกรรมไปยังหลากหลายพื้นที่ แต่วันนี้วัฒนธรรมการท่องเที่ยวการใช้ชีวิตเปลี่ยนรูปแบบไปมาก ไม่แน่นะ ใครจะรู้..รถไฟไทยอาจจะทำหน้าที่เชื่อมคนเข้าไปหาเกษตรกรในสวน เหมือนที่ยุฟุอินและคิวชูทำได้ก็ได้ ใครจะรู้


 


ผู้เขียน

ณัฐพร ปิ่นเพ็ชร์

ครีเอทีฟ / นักเล่าเรื่อง



25 views

Commentaires


bottom of page