เกาะคิวชู พื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น เป็นพื้นที่เกษตรที่กินบริเวณกว้างมาก
จะว่าไปแล้วทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่นเอง ก็มีการทำเกษตร ทั้งในการใช้เพื่อบริโภค ไปจนถึงเกษตรพาณิชย์ แต่วันนี้เราจะมาเล่าเรื่องเมืองเล็กๆ ที่แปรเปลี่ยนการเกษตร จากการผลิตเพื่อบริโภคและพาณิชย์สู่การเกษตรนิเวศน์เชิงท่องเที่ยว ในนาม ‘ยุฟุอิน’ (Yufuin) และตลอดการเดินทางไปในเมืองนี้ถึง 3 วันเราพบหลายเรื่องราวที่น่าสนใจ จึงขอแบ่งการเล่าเรื่องของยุฟุอินออกเป็น 3 ตอน
ยุฟุอินเป็นเมืองที่หลายคนชื่นชอบ ตั้งอยู่บนที่ราบกลางหุบเขาของจังหวัดโออิตะ บนเกาะคิวชู ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น แต่ด้วยภูมิประเทศที่อยู่กลางเทือกเขาสูง ทำให้ต้องนั่งรถวนไต่ระดับสันเขา ลอดอุโมงค์ จนดูระยะทางห่างกัน แต่ก็อารมณ์ดีได้ด้วยการปลอบขวัญของวิวทิวทัศน์รอบด้าน ซึ่งช่วยคลายความไกลให้เป็นใกล้ลงได้ และว่ากันว่าความงามของเมืองนี้ จะเปลี่ยนไปตาม 4 ฤดูกาล แต่ที่เด่นสุดเห็นจะเป็นการได้ชื่อว่าเป็น Onsen อันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น ตลอดจนมีทะเลสาบที่สวยงาม ชื่อ Kinrinko
ยุฟุอินมีผู้นำชุมชนมองการณ์ไกล เล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่าง Onsen ยังคงรูปแบบดั้งเดิมเอาไว้ จนกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่พร้อมเปิดประตูบ้านต้อนรับการมาเยือนของผู้คนแบบพอเพียง ไม่ถือโอกาสกอบโกย ดังนั้นโรงแรมที่พักจึงมีจำนวนจำกัด การเช่าจักรยานปั่นเที่ยวชมเมือง ดูจะเป็นกิจกรรมที่ใครมาถึงก็ต้องทำ เพราะทุกซอกทุกมุมของยุฟุอินน่าค้นหาแบบละเมียดละไมทั้งนั้น
ในโออิตะมีโครงการที่ชื่อว่า OVOP (One Village One Product) เป็นโครงการของชาวบ้านในหมู่บ้านโอยาม่า ที่ส่งเสริมการปลูกบ๊วยและเกาลัด และผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร จนมีสินค้าขายนับร้อยชนิด ขายในชุมชนและขายที่ร้านค้าริมทาง โครงการนี้ช่วยสร้างรายได้และลดการย้ายถิ่นฐานของชาวบ้านไปอยู่ในเมืองใหญ่ ด้วยโมเดลของ OVOP มีการนำไปใช้ในไทยภายใต้ชื่อ OTOP (โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์) หรืออาจจะกล่าวได้ว่า OVOP ของญี่ปุ่นนั้นเป็นต้นแบบของ OTOP
มาถึงเกาะคิวชู เกาะที่เลื่องลือเรื่องการปศุสัตว์ และเนื้อวัวที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดติดอันดับโลกคือเนื้อวากิว โกเบ หรือ มัสสึซากะเท่านั้น แต่ที่ยุฟุอิน เนื้อที่ชาวยุฟุอินบอกว่า ‘เป็นพ่อวากิว’ มีชื่อเสียงเรียงนามว่า บุงโกะ (Bungo) ซึ่งเป็นเนื้อพรีเมี่ยมเกรด A5 ซึ่งเกรด A ต่างๆ หมายถึง
แต่ทว่าเนื้อวัวระดับ A5 มีหลายที่มา ไม่ใช่แค่ว่ามีเพียงเนื้อโกเบกับมัสสึซากะเท่านั้น สำหรับในหมู่คนญี่ปุ่นแล้ว เนื้อวัว A5 บางที่อาจดังกว่าเนื้อทั้ง 2 ที่กล่าวมา อย่างเช่นเนื้อบุงโกะ
เนื้อวัวดังประจำจังหวัดโออิตะมาจากวัวโคขุนญี่ปุ่นขนดำ โดยเลี้ยงอยู่ในเขตจังหวัดโออิตะไม่เกิน 3 ปี และการจำหน่ายกับการเลี้ยงดูได้รับความร่วมมือจากสหกรณ์การเกษตร JA เริ่มตั้งแต่ปี 2007 จนกระทั่งปี 2013 ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘โออิตะ บุงโกะ กิว’ (Oita Bungo Gyu) เพื่อรวมผลิตภัณฑ์ทั้งจังหวัดให้มีชื่อเดียวกัน (บุงโกะเป็นชื่อเดิมของจังหวัดโออิตะ) เนื้อนี้สามารถหาได้ในภูมิภาคคิวชูเท่านั้น โดยเฉพาะในจังหวัดโออิตะและฟุกุโอกะ หรือห้างสรรพสินค้าทั่วไปในเขตคิวชู
เพราะความน่าลิ้มลองนี้ เราเลยไม่พลาดที่จะลองสั่งมา ที่สั่งมาคือ เนื้อเกรดพรีเมี่ยมที่ดีที่สุดของร้าน ไขมันที่แทรกอยู่ตามเนื้อนั้นเมื่อโดนความร้อนส่งกลิ่นยั่วยวนมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่นักท่องเที่ยวส่วนมากที่มาเที่ยวที่ยุฟุอินต่างไม่พลาดการสั่งเนื้อชนิดนี้ ได้ลิ้มลองซักครั้งหนึ่งในชีวิต แม้หลายปีมาแล้วเราเคยได้ลิ้มลองวากิวสายพันธุ์ที่ดีที่สุดในคิวชู แต่ความรู้สึกครั้งนี้ดีไม่แพ้ แต่จะให้ตัดสินว่าเป็นพ่อวากิวสมคำร่ำรือหรือไม่นั้น เป็นเรื่องรสนิยมส่วนบุคคล สำหรับเรา 10/10 นะมื้อนี้
ได้ออกมาเห็นประเทศเพื่อนบ้านเราจริงจังกับการทำปศุสัตว์ถึงขนาดที่มีเนื้อติดอันดับโลก เราว่าอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์เองก็มีส่วนทำให้เนื้อวัวแห่งเกาะคิวชูไปได้ไกลระดับโลก ย้อนกลับมาที่ประเทศไทยเราบ้าน เราเชื่อว่าเนื้อสัตว์เป็นอาหารของคน สัตว์กินสิ่งใด สิ่งนั้นย้อนกลับมาหาเราเช่นกัน ตอนนี้กระแสการต่อต้านการฉีดยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่มาเป็นอาหารมีมากขึ้น ควบคู่ไปกับการปลูกพืช สัตว์ที่สะอาดปลอดภัย
ไม่แน่ใครจะรู้วันหนี่งที่ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยยั่งยืน เราอาจจะมีชื่อเรื่องเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงด้วยอาหารออร์แกนิก 100% แห่งแรกในโลกก็ได้
ผู้เขียน
ณัฐพร ปิ่นเพ็ชร์
ครีเอทีฟ / นักเล่าเรื่อง
Comentarios