top of page

‘พัฒนา’



ทุกครั้งที่นั่งดูโทรทัศน์แล้วเจอข่าวเกี่ยวกับพืชผลทางการเกษตรเสียหายจากภัยแล้งหรือน้ำท่วม ผมอดคิดไม่ได้จริงๆ ว่า เส้นทางของการพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศไทยคงอีกยาวไกลทีเดียว แน่นอนว่าการ “พัฒนา” ความหมายในตัวมันเองไม่มีคำว่าสิ้นสุดอยู่แล้ว แต่หากถามว่าวันนี้การเกษตรของไทยไปไกลแค่ไหน เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าสงสัยไม่น้อย


การเกษตรของไทยขาดอะไรไปรึเปล่า? เป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจของผม แต่ในช่วงเวลานั้น คำถามก็ยังคงเป็นคำถามต่อไป จนกระทั่งโอกาสที่ได้เดินทางไปจังหวัดหนึ่ง ซึ่งมักเป็นข่าวเรื่องภัยแล้งและน้ำท่วมให้เห็นบนโทรทัศน์อยู่บ่อยครั้งมาถึง


ด้วยความโชคดีที่ได้เป็นผู้โดยสาร ระหว่างการเดินทางสู่จุดหมาย ผมมีโอกาสได้มองออกไปนอกหน้าต่างรถ สองข้างทางในเวลานั้นเป็นพื้นที่ทำการเกษตร มีคลองที่มีน้ำเต็มเปี่ยมไหลเลียบยาวไปกับแนวถนน ก่อนจะแยกตัว ออกไปสู่พื้นที่ต่างๆ ผืนนา ไร่ หรือสวนผัก สวนผลไม้ ทุกอย่างดูเขียวชอุ่มไปเสียหมด สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมมีความสุขที่ได้พบเห็น



แต่นั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่ผมเห็นครับ เหมือนสะดุ้งตื่นจากความฝัน เมื่อรถยนต์แล่นเลยจากพื้นที่เรือกสวนไร่นาอันชุ่มชื่นเหล่านั้น ไม่นาน ผมพบกับพื้นที่ทางการเกษตรอีกแห่งหนึ่งที่ทุกอย่างดูกลับตาลปัตรไปหมด


ท้องทุ่งที่แผ่กว้างดูแห้งแล้งไกลสุดลูกหูลูกตา มีขนาดที่ใหญ่กว่าพื้นที่เขียวชอุ่มหลายเท่า มันไร้ซึ่งคูคลองที่น้ำเต็มเปี่ยม มีเพียงร่องน้ำเล็กๆ ที่ไหลแทรกไปตามพื้นที่ไม่กี่แห่งเท่านั้น พืชที่ถูกเพาะปลูกส่วนใหญ่เป็นพืชไร่ที่โตแบบตามมีตามเกิด ผมตัดสินใจหลบสายตาตัวเองเข้ามาในรถ เพราะยิ่งมองออกไปก็ยิ่งรู้สึกร้อนอย่างบอกไม่ถูก


แม้การเดินทางในวันนั้นจะสิ้นสุดลง แต่ตัวผมปฏิเสธกับตัวเองไม่ได้เลยว่า ภาพพื้นที่อันแห้งแล้งแห่งนั้นก็ยังติดอยู่ในสมองจนถึงช่วงเวลาที่มีหมอนมารองหัวแล้ว


ผมเฝ้าถามตัวเองว่าเหตุใดพื้นที่ทั้งสองถึงต่างกันราวฟ้ากับดินทั้งที่ไม่ไกลกัน ในวินาทีนั้นความสงสัยเดิมที่มีอยู่ บวกกับคำถามใหม่ที่เกิดขึ้นจากการเดินทางได้รวมตัวกันขยายใหญ่ จนนำมาสู่การตัดสินใจในการทำบางอย่าง



เมื่อกลับถึงบ้าน ผมเริ่มต้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างพื้นที่ทั้งสองในทันที จนกระทั่งผมพบว่า พื้นที่ทางการเกษตรถูกแบ่งออกมาสองแบบ นั่นคือ “พื้นการเกษตรในเขตชลประทาน” กับ “พื้นที่นอกเขตชลประทาน” ซึ่งพื้นที่อย่างแรกมีการจัดการได้รับการดูแลเรื่องน้ำเป็นอย่างเป็นระบบ ผมนึกออกในทันที พื้นที่ทั้งสองแห่งต่างกันตรงที่ระบบคูคลองรวมไปถึงประตูน้ำเหล่านั้นนั่นเอง และเมื่อค้นข้อมูลลึกลงไปอีกก็พบว่า พื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทานนั้นมีจำนวนพื้นที่ที่มากกว่าหลายเท่าตัว


เมื่อค้นพบคำตอบ ความสงสัยของผมก็หมดมอดไป แต่ความกังวลใจกลับเติบโตมาแทนที่ เพราะเหตุใดระบบเหล่านั้นจึงแผ่ขยายไปไม่ถึง มันดูน่าตลกเสียเหลือเกินที่พื้นที่แถบนั้นมีฝนตกหนัก แต่ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ได้จนกลายเป็นภัยแล้งในฤดูร้อน ทุกคนต่างรู้ดีว่าน้ำคือพื้นฐานของการทำเกษตร แต่ทำไมโครงสร้างพื้นฐานนี้ถึงถูกปล่อยปละละเลยมาได้จนถึงทุกวันนี้? ไม่เพียงแต่ระบบชลประทานเท่านั้น เมื่อคิดต่อไปอีก โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่น ไฟฟ้า โทรศัพท์ ถนน หรือแม้กระทั่งอินเทอร์เน็ต


พื้นที่อีกหลายแห่งซึ่งแม้จะมีระยะทางใกล้กับเมืองหลวง ก็ยังขาดแคลนสิ่งเหล่านี้อย่างน่าเสียใจ ในช่วงเวลาที่สังคมกำลังพูดคุยกันถึงเรื่องความยั่งยืนทางการเกษตร พูดถึงระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พูดกันตามตรง ระบบเกษตรแบบไหนก็อยู่ไม่ได้ เมื่อไม่มีสิ่งอันเป็นพื้นฐานเหล่านี้


ลองคิดดูสิครับ ถึงจะมีพันธุ์ดีไม้ดีผลผลิตสูงให้เลือกปลูกมากมาย แต่ไม่มีน้ำรดต้องพึ่งฟ้าฝนอย่างเดียว ไม่มีไฟฟ้าให้ใช้ ไม่มีถนนดีๆ ให้ลำเลียงผลผลิต หรือให้คนเข้าไปท่องเที่ยวเลือกซื้อสินค้าปลอดสารพิษโดยตรงจากเกษตรกร... การเกษตรจะพัฒนาไปได้อย่างไร และผู้คนมากมายที่ยึดอาชีพนี้ไม่ว่าด้วยเหตุอันใดก็ตามจะลืมตาอ้าปากได้เมื่อไหร่ ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรปลอดสารพิษจะเริ่มได้อย่างไร ถ้าสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานที่ควรจะมียังไม่พร้อมรองรับการพัฒนาเลย



 


ผู้เขียน

เพียรชัย มากมี

นักเขียนอิสระ



33 views
bottom of page