top of page

เปลี่ยนโลกจากผลิตผลอินทรีย์


เมื่อก้าวเข้าสู่วัยที่ 38 ปี เราไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า มันจะเป็นปีที่เปลี่ยนชีวิตเรา..


เราใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วๆ ไป เกิดมาในครอบครัวฐานะปานกลางในจังหวัดพิจิตร ที่ในความคิดของคนส่วนใหญ่ค่อนข้างจะงงว่าอยู่ส่วนไหนของประเทศ.. แน่นอนตลอด 13 ปี ที่เราใช้ชีวิตเติบโตในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน จังหวัดที่ไม่ค่อยชัดเจนว่า พืชเศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรมทางอาหารของเราคืออะไรกันแน่ ก็เพราะเราคือดินแดนรอยต่อระหว่างภาคแบบนี้ เราเองก็อยากเจริญมาทาง ฟาสต์ฟู้ดเหมือนคนกรุงเทพ อีกใจเราก็ชอบอาหารท้องถิ่น นี่จึงเป็นที่มาของสิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดในวัย 38 ปี ของเรา


เราเป็นผู้หญิงที่จัดว่าปานกลางค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคนเกิดในปี 2524 นั่นคือสิ่งที่เราชะล่าใจ ด้วยความสูงและนำ้หนักตัวไม่มาก ทำให้เรากินอย่างไม่ได้ห่วงอ้วนเท่าไหร่นัก ประกอบกับชอบตามกระแสคนกรุงเขากินอะไร คนจังหวัดรอยต่ออย่างเรามันเท่มากเลยนะ กับการได้กินไก่ทอด แฮมเบอร์เกอร์ แฮม ไส้กรอก ชีส จนวันหนึ่ง เมื่อเราย้ายมาเรียนกรุงเทพ อาหารจากทั่วทุกมุมโลกหาได้ง่ายๆ ทั้งราเมง ทาโก้ เค้ก สารพันที่เราจะนึกได้ จนเราเริ่มป่วยจากอาการไขมันอุดตันในเส้นเลือดก่อน จึงนับเป็นการเปลี่ยนในชีวิตครั้งที่ 1


เปลี่ยนยกที่ 1 : เราเริ่มหันมาทานผักทานสลัดอย่างจริงจังมากขึ้น เรียกได้ว่าสาเหตุจากการที่ไขมันอุดตันนั่นแหละ เราพยายามจากการกินผักครึ่งหนึ่ง อย่างอื่นครึ่งหนึ่ง ตามแคมเปญรณรงค์ของรัฐบาลยุคหนึ่ง ในช่วง 8 เดือนแรกมันดูดีขึ้น ปริมาณไขมันลดลง.. จนกระทั่งคืนหนึ่ง เราเริ่มปวดท้อง.. ท้องเสียอย่างรุนแรง รวมถึงมีอาการมือชา นั่นคือสัญญาณการเปลี่ยนแปลงครั้งที่ 2


เปลี่ยนยกที่ 2 : เราเพิ่งรู้ว่า เราพบสารโลหะหนักที่ปนเปื้อนมากับผัก ผลไม้ และอาหารทะเลจ้าาาาา.. เอาละสิทีนี้จะยังไงต่อ ให้ปลูกผักกินเองมันก็จะเกินกำลัง เราเริ่มสืบค้นข้อมูลว่าผักปลอดภัยไร้สารหาซื้อที่ไหนใช่ค่ะสำหรับ 3 มื้อมันยากมากสำหรับเราแม้จะทำอาหารเป็น เราจึงเริ่มสนใจการหาวัตถุดิบอย่างจริงๆ จัง..


เปลี่ยนยกที่ 3 : เปลี่ยนครั้งนี้ เราใช้เวลาถึง 2 ปี หลังจากที่เราเริ่มหาวัตถุดิบจนพบว่าประเทศเรามีตลาดนัดเกษตรกรที่เชื่อถือได้อยู่หลายๆ ที่ จนเราได้เจอ ‘ลุงวิทยา' ชายขายมะพร้าวสวนเกษตรอินทรีย์ ที่เดินเก็บขยะเศษอาหารมาเป็นปุ๋ยจากตลาดนัด.. วันนั้นถึงวันนี้สู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสุดท้าย



เปลี่ยนยกที่ 4 : เราได้ข้อคิดว่า ขยะอินทรีย์ก็จะเป็นปุ๋ยอินทรีย์กลับคืนสู่ดิน ขยะเคมีก็คือปุ๋ยเคมีคืนสู่ดิน.. การเปลี่ยนครั้งนี้ในวัย 38 ปี เราพยายามอย่างมากในการใช้ชีวิตที่ไม่ต้องข้องเกี่ยวกับเคมี เพราะเราอาจจะกลายเป็นผู้สร้างเคมีกลับลงสู่ระบบนิเวศน์ โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ.. การเปลี่ยนครั้งนี้เราคิดว่าไม่ใช่เพียงเพราะเราเป็นผู้ป่วย.. แต่เราไม่อยากสร้างผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีกจากการสร้างขยะของเรา เราระวังตั้งแต่การใช้ภาชนะทดแทน การหมุนเวียนขยะหรือแม้แต่การแยกขยะ เพื่อให้กลไกธรรมชาติจัดการ ย่อยสลาย และกลับไปเป็นทรัพย์ในดินสินในน้ำที่สะอาดที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งทำได้


การเปลี่ยนครั้งนี้ เราแค่เป็นพลังเล็กๆ ที่เริ่มจากตัวเรา และเราหวังว่าพลังเล็กๆ จากทั่วทุกมุมโลกจะเปลี่ยนให้โลกเราดีขึ้นได้ ถ้าทุกคนช่วยกันไม่เพิ่มสารเคมีให้ผืนดินแหล่งน้ำ สร้างพื้นที่สะอาดที่สามารถปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์ ทำการเกษตรได้อย่างปลอดภัย ชีวิตของเราก็จะปลอดภัยมากขึ้น


 


ผู้เขียน

ณัฐพร ปิ่นเพ็ชร์

ครีเอทีฟ / นักเล่าเรื่อง



38 views

Opmerkingen


bottom of page