top of page

สถาปนิกผู้ออกแบบชีวิตที่เลือกกินได้


เราเองทบทวนเรื่อยๆ อยู่เหมือนกันว่า ทำไมเราถึงมีชีวิตแบบนี้ แบบในทุกวันนี้ มันมีองค์ประกอบอะไรที่มาประกอบเป็นเราได้บ้าง คงเป็นธรรมดาของชีวิตของเราทุกคน ที่เราสงสัยกันว่า เราควรมีชีวิตอยู่อย่างไรดีเมื่อเราอยู่ในจุดเปลี่ยนผ่านในชีวิตทุกๆ ช่วง เพื่อให้ชีวิตเราพบเจอความสุขในรูปแบบที่เราฝันไว้ อีกขั้นหนึ่งก็คงเป็นคำถามว่า แล้วจะทำยังไงที่จะทำให้เราพบเจอความสมดุล ทั้งกาย ทั้งใจ ทั้งมีศรัทธาต่อไปให้ชีวิตตัวเองได้นานๆ บทความนี้เราอยากชวนให้ผู้อ่านร่วมปะติดปะต่อเรื่องราวชีวิตของท่านร่วมกับเรา การเขียนนี้คงเป็นกระบวนการที่เราอาจจะไม่ได้เรียบเรียงตามระบบการเขียนมาตรฐาน แต่จะลองเชื่อมโยงดู



คุณเติบโตมายังไง ?

เราเองเติบโตมากับครอบครัวที่แม่เป็นอาจารย์พยาบาล พ่อจบสาธารณะสุขแต่ต่อมาไปจบและสอนวิชาสถิติและดูแลเรื่องการประเมินผลการศึกษาในยุค 80’s สิ่งที่หล่อหลอมเราที่ชัดมากๆ คือ พ่อเป็นคนมีระบบมีแบบแผน จริงจัง แต่ชอบเต้น (ในที่ลับๆ ต่อหน้าลูก) และแม่เป็นคนที่มีอิสรภาพ มองโลกในแง่ดี ไม่มีระบบเลย และขี้อาย เราว่านี่คือ องค์ประกอบสำคัญมากอันที่ 1


เนื้อหาในการเติบโตไหนที่คุณจำได้และหล่อมหลอมคุณจนถึงทุกวันนี้ ?

ส่วนองค์ประกอบที่ 2 นั้น เราโตมากับการสัมผัสเรื่องการดูแลสุขภาพ ตั้งแต่รูปแบบแผนปัจจุบัน ยันทางเลือก ที่ในวันที่เรายังเด็ก เราก็เชื่อมโยงเองไม่ได้หรอกว่ามันช่วยให้สุขภาพผู้คนที่แม่ไปรักษาหรือให้คำแนะนำดีขึ้นยังไง แต่รวมๆ คือ เราไม่ได้รู้สึกต่อต้านอะไรจากระบบไหน และพ่อเราเองพร้อมสนับสนุนแม่ทุกอย่าง ตั้งแต่ล้างรถยันไปเก็บข้อมูลตามสวนสาธารณะด้านสุขภาพด้วยกัน หรือแม้แต่การไปรอแม่ทำกระบวนการเรื่องการใช้สมาธิในการบำบัดกับผู้ป่วย HIV ตามหมู่บ้าน กิจกรรมเหล่านี้เราได้มีส่วนร่วมทำตั้งแต่ยังเด็ก ตั้งแต่ไปนั่งรอ นั่งฟัง และร่วมทำกระบวนการ เราเติบโตมาแบบนี้จนออกจากบ้านมาเรียนที่กรุงเทพฯ



องค์ประกอบสำคัญที่ 3 คือ เราโตมาแบบเข้าครัวทำอาหารกับ พ่อแม่ ป้า ย่าและยายแบบสม่ำเสมอ ตั้งแต่ล้าง ตำ หั่น ผัด แกง และมันทำให้เราเป็นคนที่รักการกินมากๆ มากถึงขั้นที่กินข้าวเช้าจะนึกถึงข้าวเที่ยง เมื่อกินข้าวเที่ยงจะนึกถึงข้าวเย็น อะไรแบบนั้น


ด้วยอาชีพแบบสถาปนิกชุมชนของเรา คงเหมือนกับใครหลายคน เราทำงานกันหนักมาก หนักแบบเลยลิมิตร่างกายไปบ่อยครั้ง และไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องการเคารพร่างกายตนเองทั้งทางกาย ทางใจและจิตวิญญาณในเชิงปฏิบัติสักเท่าไหร่ แต่เอากายใจไปดูแลคนอื่นดูแลสังคมซะเยอะกว่า เพราะรู้สึกว่าเรื่องปัญหาสังคมมันใหญ่กว่าเร่งด่วนกว่าเสมอ แต่เราผิด


วันเวลาผ่านไป เราทุกคนแก่ขึ้น มันเป็นความจริง และร่างกายก็เริ่มป่วยออดๆ แอดๆ เรื้อรัง และไม่มีพลังชีวิตมานานหลายปี ตั้งแต่เริ่มทำออฟฟิสของตัวเองได้ปีที่ 2 ชีวิตเต็มไปด้วยความเครียด การอดนอน กินอาหารที่ไม่ได้ใส่ใจและดูแล เพื่อนไม่ได้คุยด้วย ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ทำให้เราเองอ่อนแรงลง ไม่มีพลังทำในสิ่งที่หลงใหลเท่าเมื่อก่อน และมันค่อยๆ เข้ากัดกินจิตวิญญาณเราอย่างช้าๆ ไม่รู้ตัว และจนถึงวันหนึ่งเราก็อยู่ในสภาวะท้อแท้จนอยากหยุดหายใจ เราไม่รับรู้ถึงการตรึงพลังจากองค์ประกอบไหนอีกต่อไป แต่ความศรัทธาต่อสิ่งที่ศรัทธาหรือเชื่อในชีวิตในวันนั้นมันช่วยรวมพลังให้เราได้ทบทวน รวมพลังตัวเองรวบรวมองค์ประกอบของชีวิตข้างต้นให้กลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง และมันทำให้เราเลือกมีชีวิตอยู่แบบทุกวันนี้ เรากลับมาเป็นคนที่ทำอาหารกินเองแบบสมัยที่เข้าครัวกับพ่อแม่ ป้า ย่าและยาย และ 95% ของวัตถุดิบในชีวิตคือสิ่งที่เรารู้ที่มาว่าผลิตจากใคร มีที่มาที่ปลอดภัยจากการใช้สารเคมี ความสบายใจตรงนี้มันทำให้เราปรุงด้วยสภาวะที่สบาย ไม่รีบ ไม่ใช้ความคิดอะไร และทำงานกับ sense ต่างๆ ที่เรามีในการปรุงอาหาร แล้วเราก็เริ่มมีสวนสมุนไพรเล็กๆ ในบ้าน สมุนไพรพื้นฐานที่เราใช้ปรุงอาหารอยู่เรื่อยๆ



วันนี้เราพิสูจน์ว่า ถ้าเราอยากกลับมามีพลังในชีวิตอีกครั้งเพื่อให้เราได้ทำงานที่เราเชื่อได้นานๆ ความเข้าใจที่เราต้องเก็บไว้กับตัวเองเสมอคือ เราต้องกินอยู่แบบมีสติ ถามตัวเองทุกครั้งว่าสิ่งที่กินที่ทำ มันดีต่อเราเองและดีต่อสิ่งรอบตัวเราเท่าๆ กันยังไง คำว่าสร้างสมดุล คงเป็นคำตอบของเรื่องนี้


และการกินไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะทำให้เราดีขึ้นได้ แต่การกิน การปรุง การปฏิบัติที่มีความเคารพต่อตัวเองและธรรมชาติต่างหากที่มันจะทำให้เรากลับมามีพลังเต็มเปี่ยมอีกครั้ง


สุดท้ายสิ่งที่นักออกแบบควรตระหนักมากที่สุด คือการออกแบบคุณภาพชีวิตจากการมีอาหารที่ดีในการเป็นแหล่งพลังงานเพื่อไปสร้างสรรค์และทำสิ่งที่ดีให้กับโลกใบนี้ แต่มันจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเรายังไม่เริ่ม ไม่พยายามทำให้พลังงานเหล่านั้นมาจากแหล่งวัตถุดิบที่ปลอดภัย จริงมั้ย..



 


ผู้เขียน

กษมา แย้มตรี

สถาปนิกชุมชุน



14 views
bottom of page