top of page

‘ริมปิง’ ไม่ทิ้งเธอ..



สวัสดีจ้าววววววว


เช้านี้เรามีภารกิจเพื่อเธอ.. เธอนั่นแหละจ้ะผู้อ่าน ผู้บริโภคทั้งหลาย.. เสียงทักทายแบบนี้ เป็นที่ไหนไปไม่ได้นอกจาก เจียงใหม่จ้าววววววว

วันนี้เราไม่ได้จะพาไปเดินไร่เดินทุ่งนะคะ เรามาพาชอปปิ้งที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตใจกลางเมืองเชียงใหม่ ก่อนอื่นออกตัวก่อนว่าไม่ได้ค่าโฆษณา หรือถูกจ้างทำแคมเปญแต่อย่างใด.. แต่สิ่งที่ไปพบไปเจอมามันว้าวแก่ใจคนทำอาหารอย่างเรายิ่งนัก.. ใช่ค่ะ เรากำลังหมายถึง ริมปิง ซุปเปอร์มาร์เก็ต ที่โด่งดังในย่านนี้นั่นเอง



พอประตูอัตโนมัติเปิดปุ๊บ ที่นี่ก็เหมือนซุปเปอร์มาร์เก็ตธรรมดาทั่วๆ ไปค่ะ มีของใช้ของกิน มีทั้งของในประเทศของจากต่างประเทศตั้งแต่ระดับกลางถึงไฮเอนด์ จนเราไปสะดุดตากับป้ายที่เขียนว่า Organic Fruit มันเหมือนมีแรงดึงดูดให้เรารีบปรี่เดินไป ภาพในหัวก็คิดว่าคงเป็นผักผลไม้นำเข้าที่ได้ตรารับรองเหมือนที่พบในซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วๆ ไป แต่พอไปถึง ตะลึงกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าค่ะ กับเจ้าสติกเกอร์ 5 สี ตามการให้ความหมายเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าใจที่มาของผลิตผลที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างชัดเจน..

นาทีนั้นอยากจะร้อง Oh My God!!!! แล้วประเทศไทยก็มีที่แบบนี้จริงๆ ด้วย เราไปรู้จักแต่ละสีตามความเข้าใจของเรากันเลยค่ะ



สีเขียว Certified Organic (Green Label) ถือเป็นความออร์แกนิค 100% ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ยันเก็บเกี่ยว ขึ้นทะเบียนจนได้รับตรารับรองแล้ว


สีฟ้า Organicaly Grown (Blue Label) ปลูกด้วยกรรมวิธีออร์แกนิค และทุกขั้นตอนเหมือนสีเขียว เพียงแต่ยังไม่ได้ขอใบรับรอง หรืออยู่ในขั้นตอนการขอใบรับรองอยู่


สีเหลือง Pesticide Safe (Yellow Label) มีการใช้สารเคมีระหว่างการปลูก.. แต่!!! ทิ้งระยะปลอดภัยก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 10 วัน


สีขาว Hydroponics (White Label) คือการปลูกพืชโดยให้สารอาหารในรูปแบบของเหลวแก่พืช


สีแดง General Vegetable (Red Label) ผลผลิตเกษตรกรรมทั่วๆ ไป ที่ไม่สามารถอธิบายที่มา วิธีการได้มาของผลิตผลได้



สีแดงอาจจะดูน่ากลัวนะ แต่ทางริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ตเองเขาก็ตั้งข้อกำหนดการส่งผักมาขายว่าต้องผ่านการทดสอบจากห้องแล็ปของริมปิงเอง ที่เรียกว่า Rimping Screening Test ว่าปลอดภัยสมควรได้รับอนุญาตให้เข้ามาขายให้ลูกค้าของริมปิงเองได้ทานอย่างสบายใจ


ในรายละเอียดของ Rimping Screening Test จะมีป้ายแจ้งไว้อย่างละเอียดว่ามีเกษตรกรรายไหนผ่านการทดสอบสารเคมีชนิดไหนบ้างแล้ว ทั้งยาฆ่าแมลง บอแรกซ์ ฟอร์มาลีน สารฟอกขาว และกรดซาซิซิลิก ซึ่งการตรวจนี้นอกจากผักผลไม้แล้ว ยังมีการตรวจลงรายละเอียดไปถึงเนื้อสัตว์ อาหารทะเลเลยทีเดียว



แม้การตรวจนี้อาจจะไม่ได้รับรองโดยสถาบันชั้นนำ แต่เราเห็นความตั้งใจ ความปรารถนาดีที่จะช่วยลูกค้าคัดกรองวัตถุดิบ ช่วยสร้างมาตรฐานและความใส่ใจให้กับผู้ผลิต แม้ว่าที่แม่ริมปิงเองจะอยู่ในฐานะของคนกลางในการเชื่อมโยงกับผู้บริโภคก็เถอะ


เรายังเห็นไอเดียน่ารักๆ ในการพยายามลดปริมาณขยะ และการใช้วัสดุธรรมชาติเป็นบรรจุภัณฑ์ แม้จะยังทำได้ในปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับสินค้ากว่าหมื่นๆรายการ แต่มันเป็นสัญญาณที่ดีแห่งการเริ่มต้นแล้ว


ทั้งหมดที่เล่ามา ทำให้เรารู้สึกอิจฉาคนเชียงใหม่จังที่มีสถานที่ที่รวบรวมและให้ความรู้การกิน อย่างน้อยวันนี้แม้เป็นจุดเล็กๆ เราก็อยากให้สิ่งเหล่านี้ขยายผลมายังกรุงเทพและภาคอื่นๆ นะ... ถ้าริมปิงหรือเชียงใหม่ทำได้ แล้วลองคิดเล่นๆ นะว่ามีจังหวัดละหนึ่งแห่ง เราจะช่วยกันได้ถึง 76 จุดที่มีอาหารปลอดภัยเลยแหละ



 


ผู้เขียน

ณัฐพร ปิ่นเพ็ชร์

ครีเอทีฟ / นักเล่าเรื่อง



40 views

Comments


bottom of page