อิสตันบูล เมืองท่าสำคัญของประเทศตุรกี ที่ตั้งอยู่บนสองฟากฝั่งยุโรปและเอเชีย ความสวยงามด้วยวัฒนธรรมจากโบราณกาล สิ่งก่อสร้างอย่างสุเหร่าขนาดมหึมาที่หลายๆ แห่งแปลงโฉมมาจากโบสถ์คริสต์ ตลาดชอปปิ้งที่มีสินค้าหลากหลาย ความน่ารักช่างเจรจาของผู้คน สิ่งเหล่านี้ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมากมายทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาสัมผัสเสน่ห์ของเมืองอิสตันบลูแห่งนี้ด้วยตนเอง
เป็นโชคดีของนักท่องเที่ยวอย่างเราบนความน่าเศร้าของชาวตุรกี ด้วยผลกระทบจากความขัดแย้งกับสหรัฐฯ รวมกับปัญหาเศรษฐกิจขาดดุลเรื้อรัง ทำให้ค่าเงินลีลาตุรกีในช่วงสองปีหลังอ่อนแอลงมาก จากหนึ่งลีลาเท่ากับสิบกว่าบาทไทย ปัจจุบันเหลือเพียงห้าบาทกว่าๆ เท่านั้น
การเดินทางครั้งนี้เราพบว่าคนอิสตันบูลค่อนข้างชอบความสโลว์ไลฟ์ ตลอดสองข้างทางไม่ว่าจะฝั่งยุโรปหรือเอเชีย สิ่งที่ต้องเห็นตลอดเลยคือร้านกาแฟ กาแฟตุรกีจะขมมาก เวลาเสิร์ฟเขาจึงเสิร์ฟกับชอคโกแลตและน้ำเปล่า ในบางวันคนตุรกีเขาแวะนั่งจิบกาแฟกันมากกว่าสี่รอบเชียวแหละ มีวันหนึ่งเราแวะพักจิบชาดำในร้านกาแฟแบบพื้นบ้าน เป็นโต๊ะเก้าอี้เตี้ยๆ นั่งกันริมถนน นั่งได้ไม่นานผู้ชายโต๊ะด้านซ้ายหันมาชวนทานขนมที่เขาซื้อมาจากร้านริมทาง เราไม่ทันจะลองชิมดู ผู้ชายอีกคนที่โต๊ะทางขวาก็หันมาขอทานด้วยเสียอย่างนั้น เป็นความน่ารักและสะท้อนความเป็นกันเองของคนที่นี่สุดๆ
กลับมาพูดถึงเรื่องอาหารออร์แกนิค เรามีโอกาสได้คุยกับ นูเรย์ หญิงชาวตุรกีวัยห้าสิบกว่าถึงเทรนด์การทานอาหารออร์แกนิคในอิสตันบูล นูเรย์หัวเราะแล้วบอกเราว่าสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ คนทั่วไปไม่มาสนใจอาหารออร์แกนิคกันหรอก เพราะพอเป็นออร์แกนิคราคามันแพงมาก ซื้อไม่ไหว แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีขายเลยนะ
ถ้าอยากหาสินค้าออร์แกนิคก็ต้องไปที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตเฉพาะ อย่างเช่น MiGros Sepermarket ที่จะขายแต่พืชผักเกษตรอินทรีย์เท่านั้น แต่ราคาก็จะสูงกว่าตลาดทั่วไปมาก คนที่จะซื้อได้ก็ต้องเป็นคนมีฐานะประมาณหนึ่ง นูเรย์เล่าให้เราฟัง
ออกไปสำรวจทั้งตลาดสดและซุปเปอร์มาร์เก็ต เห็นได้ชัดเจนถึงความแตกต่าง เราเดินไปเจอ MiGros Sepermarket ผักและผลไม้ที่วางขายที่นี่มีสภาพไม่สวยงามสมบูรณ์ กะหล่ำม่วงแหว่งๆ เต็มไปด้วยร่องรอยแมลงแทะกิน ตรงกันข้ามกับผักที่เราเห็นจากตลาดสด มะเขือเทศอวบอิ่มขนาดใหญ่กว่ามะเขือเทศบ้านเราเท่าตัว ผิวเรียบเนียน สีสดน่ารับประทานมาก แต่พอเห็นราคาเป็นต้องตกใจว่าทำไมถูกขนาดนี้ เราเก็บกลับมาถามนูเรย์เพื่อความแน่ใจ และนูเรย์ก็ยืนยันกับเราว่ามันไม่ออร์แกนิค เพราะถ้าออร์แกนิคจะติดป้ายบอกชัดเจนเป็นจุดขาย และราคาก็จะแพงขึ้นไปอีก
เอาจริงๆ ถ้าเลือกได้ใครล่ะจะอยากทานอาหารจากวัตถุดิบที่ปนเปื้อนด้วยสารเคมี แต่หลายครั้งปัญหาทางการเงินก็ทำให้หลายคน หลายครอบครัวไม่มีทางเลือก ไม่ใช่แค่ที่อิสตันบูลแห่งนี้ เราเคยสอบถามคนที่เวียดนามถึงอาหารออร์แกนิคก็ได้คำตอบที่คล้ายกัน และถ้ามองกลับมาที่ประเทศไทย ถามตาสีตาสาชาวบ้านก็ได้คำตอบไม่ต่างกันหรอก เพราะเศรษฐกิจของประเทศมีส่วนอย่างมากกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน ไปลองดูประเทศใหญ่ๆ ที่ระบบเศรษฐกิจพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่นสิ คำว่าออร์แกนิคแทบไม่มีให้เห็นเพราะของทุกอย่างมาจากเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว
จะพัฒนาให้ระบบเกษตรอินทรีย์เกิดได้ สุดท้ายก็ต้องพัฒนาไปพร้อมกันทั้งประเทศ ระบบเศรษฐกิจ ระบบสาธารณูปโภค เครือข่ายคมนาคม ทุกอย่างต้องพัฒนาไปด้วยกันทั้งหมด เรายังคงหวังว่าวันหนึ่งเราจะได้เห็นตลาดสดและซุปเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทยที่ไม่ต้องมีคำว่าออร์แกนิคมาแบ่งแยกวัตถุดิบออกจากกัน เพราะทุกอย่างล้วนเป็นวัตถุดิบปลอดสารพิษทั้งหมด
ผู้เขียน
ปารณีย์ เลิศวัฒนาสมบัติ
นักเขียนอิสระ
Comments