เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาเป็นโอกาสอีกครั้งที่ได้กลับไปเยือนสหรัฐอเมริกา และด้วยความที่เราเองชอบมากกับการไปเดินตลาด เราจึงไม่พลาดไปเดินดูวิถีเกษตรอินทรีย์แห่งเมืองซานฟรานซิสโกค่ะ
FERRY BUILDING MARKETPLACE
เมื่อพูดถึงชื่อของอาคารเฟอร์รี่ นอกเหนือจากการให้บริการด้านการคมนาคมทางน้ำแล้ว อาคารเฟอร์รี่ยังเป็นตลาดนัดเกษตรกรท้องถิ่น ที่การันตีคุณภาพภายใต้ชื่อ Ferry Plaza Farmers Market ซึ่งอาคารเฟอร์รี่ที่ซานฟรานซิสโกแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่า 100 ปี..
อาคารเฟอร์รี่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1898 เป็นจุดศูนย์กลางการขนส่งทางรถไฟสำหรับทุกคนที่เดินทาง
มาซานฟรานซิสโก ในยุคตื่นทองจนถึงทศวรรษที่ 1930 วิธีเดียวที่นักเดินทางและผู้สัญจรจะมาถึงซานฟรานซิสโกคือการเดินทางโดยเรือเฟอร์รี่ ผู้โดยสารที่เดินทางผ่านพื้นที่อาคารสองชั้นแสนอลังการ ที่มีซุ้มโค้งภายในและสกายไลท์เหนือศีรษะ มีจำนวนมากถึง 50,000 คนต่อวัน
ภายหลังจากการเปิดตัวของสะพานเบย์และสะพานโกลเดนเกต การเดินทางด้วยรถยนต์กลายเป็นเส้นทางสัญจรหลัก ทำให้เส้นทางเรือข้ามฟากกลายเป็นเรื่องล้าสมัย อาคารเฟอร์รี่ถูกใช้งานน้อยลง จนมา
ถึงปี ค.ศ. 1955 โครงสร้างอาคารทั้งสองชั้นถูกดัดแปลงเป็นพื้นที่สำนักงานทั่วไป กระทั่งในที่สุดอาคารทั้งหลังก็ถูกปิดตัวลงในอีก 35 ปีต่อมาเมื่อเกิดแผ่นดินไหว Loma Prieta ในปี ค.ศ. 1989
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2003 อาคารเรือข้ามฟากซานฟรานซิสโกแห่งนี้เปิดให้สาธารณชนเข้ามาเยี่ยม ชมอีกครั้ง หลังจากการบูรณะยาวนานถึงสี่ปี ถนน Nave ภายในอาคารถูกปรับปรุงให้เป็นพื้นที่ตลาดอาคารเรือข้ามฟาก หรือที่รู้จักในชื่อ ‘ตลาดอาหารสาธารณะระดับโลก’ โดยปัจจุบัน Ferry Plaza Farmers Market เป็นตลาดเกษตรกรที่ได้รับการรับรองจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ดำเนินการโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ‘Center for Urban Education about Sustainable Agriculture (CUESA)’
ตลาดแห่งนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในด้านคุณภาพและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่
มาจากฟาร์มสดๆ และอาหารที่ปรุงขึ้นด้วยความใส่ใจโดยใช้วัตถุดิบพรีเมี่ยมคัดพิเศษ ภายในตลาดมีทั้งผลไม้ ผัก สมุนไพร ดอกไม้ เนื้อสัตว์ และไข่ ที่มาจากเกษตรกรและเจ้าของฟาร์มขนาดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการรับรองเกษตรอินทรีย์ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปอินทรีย์คุณภาพสูง เช่น น้ำผึ้ง น้ำมันมะกอก ชีส ขนมปัง กาแฟ
Ferry Plaza Farmers Market นับเป็นหนึ่งในตลาดชั้นนำของสหรัฐฯ ที่หากใครได้มีโอกาสเดินทางมาถึงที่นี่แล้วก็ไม่ควรพลาดที่จะมาเดินเล่นชิมอาหารจากวัตถุดิบสดใหม่ ปลอดภัย หรือจะซื้อวัตถุดิบสดๆ กลับไปทำอาหารทานเองก็ได้เช่นกัน ในทุกวันโดยเฉพาะวันเสาร์ ทั้งเชฟและเกษตรกรที่มีชื่อเสียงจะมารวมตัวกันที่นี่ เพื่อเปิดตลาดให้ผู้คนที่แวะมาเยี่ยมเยียนได้เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนและเรียนรู้เกี่ยวกับอาหารและการเพาะปลูก โดยในแต่ละสัปดาห์มีผู้คนเข้ามาที่ตลาดแห่งนี้มากถึง 40,000 คนทีเดียว
เห็นแบบนี้แล้วเราเองก็มั่นใจว่า ประเทศไทยสามารถสร้างตลาดที่มีคุณภาพแบบนี้ได้ไม่ยากและไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติมจาก https://www.ferrybuildingmarketplace.com
ผู้เขียน
ณัฐพร ปิ่นเพ็ชร์
ครีเอทีฟ / นักเล่าเรื่อง
Comentários