top of page

อภัยภูเบศ #2 : บ้านเล่าเรื่อง



ถือเป็นภาคต่อจากปราจีนบุรีตอนที่แล้วละกันนะ อย่างที่ได้อ่านกันไปถึงปราจีนบุรี และความพยายามที่จะสร้างพื้นที่ความยั่งยืนผ่านอาหาร วัตถุดิบ โดยนำร่องจากผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ แต่อยากจะบอกว่าที่นี่ไม่ได้จบแค่การมีโรงพยาบาล หรือต้องเป็นผู้ป่วยนะจ้ะ ถึงจะมีสิทธิ์ในการได้กินอาหารปลอดภัย และวัตถุดิบอินทรีย์


ต้องยอมใจจังหวัดเล็กๆ จังหวัดนี้เลย ที่นี่เขาดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องอาหารปลอดภัย ระหว่างที่เราเดินทางไปโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศ ซึ่งเราไปถึงก่อนเวลานัดของเจ้าหน้าที่ถึง 2 ชั่วโมง เราจึงขับรถลัดเลาะตามคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ ว่ามาปราจีนบุรีทั้งทีต้องมีโอกาสไป ‘บ้านเล่าเรื่อง’



เมื่อรถจอดเราก็ปล่อยให้ประสบการณ์ตัดสินไปแล้วว่าน่าจะเป็นบ้านเก่าของคหบดี ที่ดัดแปลงมาเป็นพิพิธภัณฑ์หรือที่เก็บของเก่าอะไรซักอย่าง แต่เราก็ไม่รอช้า บ้านอายุไม่ต่ำกว่า 80 ปี น่ารักมาก นึกถึงละครยุควนิดาก็ไม่แปลก มีต้นไม้ใหญ่ มีสนามหญ้าน่ารัก เดาไม่ผิดส่วนนึงคือที่นี่มีประวัติความเป็นมาของเมืองปราจีนบุรีซ่อนตัวอยู่จริงๆ ทำให้เรารู้ประวัติการอพยพถิ่นฐานของชนกลุ่มน้อยทั้งชายแดน และจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาตั้งรกราก และเกิดการสร้างวัฒนธรรมผสมขึ้น ณ บริเวณนี้ แต่นี่ไม่ตื่นเต้นเท่าการได้พบ พี่ป้อม - อมรา อาคมานนท์ ผู้จัดการของที่นี่ และการได้ทานอาหารซึ่งเป็นเมนูตามฤดูกาล..


แน่นอนที่สุด นี่คือสิ่งที่พาเรามา ที่นี่เปิดด้านหลังของบ้านที่ติดกับแม่น้ำเป็นร้านอาหาร ทุกเมนูทางร้านได้ใช้วัตถุดิบปลอดสารเคมีโดยมีการตรวจสอบร่วมกับทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยพี่ป้อมสามารถอธิบายว่า วัตถุดิบที่ใช้มาจากที่ไหน และมีสรรพคุณทางยาอย่างไร .. ใช่แล้วค่ะ อาหารเป็นยา ผู้ป่วยใช้สมุนไพร ยา และอาหารปลอดภัยเพื่อรักษา แต่ทางบ้านเล่าเรื่องจัดเมนูเพื่อป้องกัน ที่นี่บริการอาหารคาว หวาน และเครื่องดื่มจากวัตถุดิบอินทรีย์ในท้องถิ่น นั่นหมายความว่าเมนูที่นี่จะขึ้นตามฤดูกาลนะ ไม่ใช่ว่ามาแล้วจะได้กินซ้ำๆ กันตลอด



ที่ประทับใจอีกจุดของบ้านเล่าเรื่อง คือที่หลังเมนูมีการบอกสูตรอาหารกันจ้ะ ไม่มีหวง เพราะพี่ป้อมบอกว่าทำอาหารเองปลอดภัยสุด เพื่อจะได้แน่ใจว่าการล้างการเตรียมสะอาดปลอดภัย เรื่องสุขภาพ เรื่องความสะอาด ทางบ้านเล่าเรื่องพยายามอย่างที่สุด แต่ถ้าลูกค้ากลับไป ก็ยังทานอาหารไม่ดี ทำไม่ได้ ล้างไม่เป็น ก็เท่านั้น สุดท้ายการทำอาหารการกินอาหารเป็นเรื่องตระหนัก และความรับผิดชอบส่วนบุคคล พี่ป้อมยังรับผิดชอบต่อขยะอาหารที่เกิดขึ้นอย่างจริงๆ จัง ที่นี่มีการหมักน้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้นจากเศษผลไม้ เพื่อไว้ใช้และจำหน่ายผ่านชุมชนอีกด้วย เอาเป็นว่า ตั้งแต่เก็บเกี่ยววัตถุดิบยันกลายเป็นปุ๋ยลงดินกลับไป ที่นี่คำนึงแบบครบวงจรกันเลยทีเดียว


‘บ้านเล่าเรื่อง เมืองสมุนไพรปราจีนบุรี’ แม้จะเป็นบ้านของครอบครัวเปี่ยมสมบูรณ์ ตระกูลขุนนางและพ่อค้าเก่าแก่ของเมือง ที่สร้างขึ้นหลังเหตุการณ์ไฟไหม้ในตลาดปราจีนฯ และเป็นบ้านที่ทันสมัยมากใน พ.ศ. 2493 ก่อน ดร. ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ น้องคนสุดท้องของตระกูลจะมอบให้มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นผู้ดำเนินสาธารณะประโยชน์ แต่สิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้ คือความรักที่มีต่อผู้คน ชุมชน ที่นี่จัดให้เป็นพื้นที่สาธารณะ มีการจัด Workshop เสวนา และกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวชาวเมืองปราจีนบุรีและต้อนรับผู้คนต่างถิ่นที่มาเยี่ยมเยือนแล้วพี่ป้อมยังเล่าว่าทุกเย็นที่นี่กลายเป็นจุดนัดพบให้เด็กๆ ที่พ่อแม่ยังทำงานไม่สามารถรับกลับจากโรงเรียนได้ในเวลาเลิกเรียน กลายเป็นทั้งห้องสมุด ลานทำการบ้านของเด็กๆ โดยทางบ้านเล่าเรื่องเตรียมน้ำสมุนไพรไว้ให้เด็กๆ หรือผู้ผ่านไปมาได้ดื่มแก้กระหายอีกด้วย



ถ้านี่คือส่วนหนึ่ง ของการที่มีส่วนร่วม และการสร้างคุณค่าบางอย่าง ให้เกิดขึ้นในสังคม เรามั่นใจว่า บ้านเล่าเรื่องได้ทำหน้าที่มากกว่าการถ่ายทอดเรื่องราวของจังหวัดเล็กๆ แห่งนี้แต่บ้านหลังนี้ทำหน้าที่สำคัญคือการบันทึกว่ามนุษย์ ได้เดินทางมาถึงจุดที่เราเลือกได้ว่าเราจะให้คุณค่าจากสิ่งที่เราเป็นในด้านไหนได้บ้าง เราเชื่อเสมอ สิ่งที่หล่อเลี้ยงในชุมชนไม่จำเป็นเลยที่ต้องรอเราแค่เริ่มที่จะทำ แล้วทำมันจริงๆ สุดท้ายบนทุกเส้นทางที่เราปรารถนาดีต่อกัน ทั้งอาหารและการดูแลกันเส้นทางสายนี้ไม่เคยเดียวดาย ขอบคุณโอกาสดีๆ กับปราจีนบุรีอีกครั้ง



 


ผู้เขียน

ณัฐพร ปิ่นเพ็ชร์

ครีเอทีฟ / นักเล่าเรื่อง



45 views
bottom of page