ปราจีนบุรีคือจังหวัดเล็กๆ ที่อยู่.. เอ่อ ตรงไหนของประเทศไทยนะ.. เอาเป็นว่าเรายอมรับได้ไม่อายปากเลยว่านึกไม่ออก ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการสะกดชื่อปราจีนบุรีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษสะกดอย่างไร ไม่รอช้าก่อนเราจะเดินทางไปจังหวัดที่แทบไม่รู้จักนี้เราต้องใช้ผู้ช่วยอย่าง Google ในทันที..
หลังจากหาข้อมูลในจังหวัดนี้เป็นที่เรียบร้อย เราจึงออกเดินทางใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ไปยังจังหวัดที่แทบไม่มีอะไรเลยจังหวัดนี้ เรากด GPS ที่หมายปลายทางคือ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และเมื่อล้อรถเราจอดถึงที่หมาย เฮ้ย!!! คุณมันไม่ใช่อย่างที่คิดไว้เลย ถ้าคุณเคยไปเมืองที่มีสถาปัตยกรรมโบราณ หรือวินเทจเบาๆอย่างจันทบุรีนะ.. นี่คือส่วนผสมที่ลงตัวคล้ายความเป็นหลวงพระบางมาก ด้วยเพราะเจ้าพระยาอภัยภูเบศรผู้ซึ่งมีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สร้างตึกอันหมายจะเป็นที่ประทับรับรองยามองค์เหนือหัวเสด็จประพาส แต่ก็สร้างเสร็จไม่ทันก่อนล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ สวรรคต เจ้าพระยาอภัยภูเบศรจึงมอบอาคารหลังนี้ให้ใช้ในกิจการโรงพยาบาล และการทำยาสมุนไพรในชื่อ ตึกอภัยภูเบศร
นอกเหนือจากอาคารยุคโคโลเนียล เราจะมาเล่าเรื่องสมุนไพรตำรับอภัยภูเบศรในตอนหน้า แต่สิ่งที่ทำให้เราต้องมาถึงที่นี่อีกเรื่องหนึ่งก็คือ การดูแลอาหารผู้ป่วยของที่นี่ ขอบอกเลยว่า ‘ไม่ธรรมดา’ เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ต่างหน่วยงาน ในการจัดการด้านอาหารที่ปลอดภัยอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก
ใช่แล้ว อาหารที่ใช้สำหรับผู้ป่วยในของทั้งโรงพยาบาลเป็น ‘วัตถุดิบอินทรีย์จากเกษตรกรโดยตรง100%’ ที่บอกว่าเป็นวัตถุดิบอินทรีย์ 100% จะแน่ใจได้อย่างไร และเรื่องราวที่คุณจะได้อ่านต่อจากนี้รับรองว่าคุณจะทึ่ง 3 เด้ง
ทึ่งที่ 1 : โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นโรงพยาบาลขนาด 486 เตียง ที่มีแผนกเกษตรอินทรีย์ มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ทำหน้าที่รวบรวมวัตถุดิบและไปตรวจสอบเกษตรกรในการส่งวัตถุดิบเข้าสู่โรงครัว แน่นอนมันไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งการจัดการวัตถุดิบที่มีจำนวนไม่แน่นอนในแต่ละฤดูกาล การจัดระเบียบเกษตรกรเพื่อให้ได้สินค้าตรงตามเวลา และพอเพียงต่อคนไข้ในทั้งโรงพยาบาล นอกเหนือจากแผนกเกษตรอินทรีย์แล้ว การทำงานร่วมกันกับฝ่ายโภชนาการในโรงพยาบาลที่ต้องปรับเปลี่ยนเมนูตามวัตถุดิบที่เกษตรกรส่งมาด้วยความเข้าใจว่ามันขึ้นกับสภาพตามธรรมชาติ และฤดูกาลของพืชพันธุ์ จึงไม่ต้องแปลกใจที่เราจะเห็นการออกเมนูในโรงครัวแห่งนี้ถูกเขียนด้วยลายมือใหม่ทุกวัน
ทึ่งที่ 2 : นอกเหนือจากความร่วมมือภายในโรงพยาบาลแล้ว การประสานกับเกษตรจังหวัด เพื่อประสานให้เกษตรกรในพื้นที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของวัตุดิบที่กลายเป็นอาหารเยียวยาผู้ป่วยไม่ใช่การเพิ่มสารพิษในอาหารผู้ป่วย จึงนับเป็นความร่วมมือสำคัญระหว่างเจ้าหน้าที่เกษตรและสาธารณสุขเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
ทึ่งที่ 3 : กลไกการประกันราคาของโรงพยาบาล เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรว่าอตลอดทั้งปีพวกเขามีตลาดที่รับซื้อแน่นอนไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง และส่งตรงถึงโรงครัวพร้อมปรุงสดใหม่ให้กับผู้ป่วย เมื่อเราเห็นราคาวัตถุดิบแล้ว ราคาพอกันกับท้องตลาดทั่วๆไปเลย ไม่ได้แพงกว่าเหมือนที่เราเคยเห็นขายทั่วๆไป
นี่แค่บางส่วนของสิ่งที่เราเห็นว่ามันเกิดขึ้นแล้วไม่ได้ฝันไป มันมีอยู่จริงและอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ เมืองเล็กๆ ที่เริ่มจากความร่วมมือร่วมใจ ไม่ได้คิดว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด แต่เป็นความรับผิดชอบต่อชีวิตของคนทั้งจังหวัด ในตอนหน้าเราจะมาเล่าเรื่องการขยายผลสู่เครือข่ายอื่นๆ ในโรงพยาบาลและภาคประชาชน..
แค่ 1 วันในปราจีนบุรี เรารู้สึกได้ว่าเมืองนี้เป็นอีกเมืองที่น่าอิจฉา และพร้อมเป็นจังหวัดต้นแบบเรื่องอาหารปลอดภัยและเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างแท้จริง
ผู้เขียน
ณัฐพร ปิ่นเพ็ชร์
ครีเอทีฟ / นักเล่าเรื่อง
ผู้ให้สัมภาษณ์
พี่ปู ผกามาศ ครูทอง
นักโภชนาการชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานโภชนศาสตร์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
พี่เล็ก ฉวีวรรณ ภูวสิทธิถาวร
เจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ แผนกเกษตรอินทรีย์ มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
Commentaires