top of page

3 จานของขนุน ที่รอเวลาเติบโตของวัตถุดิบ (ตอนต้น)



เชื่อว่าทุกคนเกิดมา คงไม่มีใครรู้มาก่อนว่าในตัวตนของเรามีทักษะหรือความสามารถพิเศษอะไรหากเราไม่เคยได้เรียนรู้ลงมือทำ เอาเข้าจริงแล้วเมื่อย้อนคิดไปถึงวัยเด็ก เราไม่ชอบการเข้าครัวมากที่สุด การที่เราเห็นภาพแม่ทำกับข้าวให้ทุกคนในบ้านทานวันละ 3 มื้อแทบทุกวัน ตั้งแต่ตื่นเช้าก่อนไปโรงเรียน และหลังกลับจากโรงเรียน แม่ก็ยืนอยู่หน้าเตาแทบทุกวัน ความคิดวัยเยาว์ของเราในวันนั้น รู้สึกว่าการทำอาหารเป็นภาระที่หนักหนาเสียจริง แต่เราในฐานะลูกสาวจำเป็นต้องร่วมเข้าครัวกับแม่ด้วย ช่วยงานเล็กน้อย นิดหน่อยก็ยังดี เป็นความปรารถนาดีที่แม่มีต่อลูกสาว หวังสั่งสมประสบการณ์แม่บ้านแม่เรือนพึ่งพาตนเองได้ไว้ให้ ตั้งแต่ล้างผัก หั่น ผัด ปรุง ปลอกผลไม้จัดลงจาน ไปจนถึงล้างทำความสะอาดข้าวของทุกอย่างหลังทานอาหารเสร็จ ซึ่งแม่ก็ได้รับการสอนเรื่องราวเหล่านี้มาจากในครัวของยายด้วยเช่นเดียวกัน


ในวัยเด็กเราจำได้ดี เรามักจะเป็นลูกมือที่ไม่ถูกใจแม่ เพราะแม่ของเราค่อนข้างเจ้าระเบียบแต่ก็มีมุมครีเอทีฟผสมด้วยเล็กน้อย บางเมนูอาหารของแม่ แม่ก็ทำแบบเดาๆ เอาว่าน่าจะอร่อย แต่ก็อร่อยถูกใจคนในครอบครัวจริง หากเราตั้งคำถามหรือลงมือทำได้ไม่ถูกใจซักเท่าไหร่ แม่ก็เผลอเอ่ยปากกับเราว่า “เราไม่มีจินตนาการ” … โอ้โหฟังแล้วรุนแรงกระแทกใจ แต่พอเวลาผ่านไปหลายปี จนกระทั่งวันหนึ่งเราได้มาคลุกคลีกับการเกษตร ลงมาเป็นผู้ปลูกเองกินเอง ความรู้สึกนั้นกลับงอกงามเป็นความภาคภูมิใจ อยู่ๆ เราก็ทำอาหารเองได้เสียอย่างนั้น และบางเมนูก็จินตนาการขึ้นมาเองตามประสบการณ์ที่เคยได้ลองชิมจากที่นั่นที่นี่มา เรานึกขอบคุณโชคชะตาที่ทำให้เราตัดสินใจเลือกทำการเกษตรอินทรีย์บนพื้นที่สวนหลังบ้าน ที่ให้คุณค่ามากมายกับชีวิต เรามีทั้งอาหารที่สะอาด มีอากาศบริสุทธิ์ไว้หายใจ มีพื้นที่ผ่อนคลายความรู้สึกในวันที่เจอกับเรื่องเลวร้ายแบบที่เราควบคุมมันไม่ได้ ที่ทำให้เราเข้าใจชีวิตที่มีความสุขอย่างแท้จริงของมนุษย์ว่า จริงๆ แล้วมนุษย์ควรกินและมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้อย่างไรด้วยความพอดี

คำตอบที่ได้คือ ปลูกในสิ่งที่กิน กินในสิ่งที่ปลูก เป็นหัวใจสำคัญสำหรับเมนูอาหารของนุ๋น พ่วงด้วย กินอิ่มอย่างมีคุณภาพ นอนหลับลึก หายใจได้เต็มปอด เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญสำหรับคุณภาพชีวิต ต่อจากนี้.. ขอนำเสนอ 3 เมนูอาหารจากสวนหลังบ้านของเรา ที่เราชื่นชอบมากจนอยากให้คนอื่นได้ลองทำตาม


ยำแตงกวาเสฉวน


เมนูนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากร้านอาหารจีนแห่งหนึ่งในกรุงเทพ เป็นเมนูมังสวิรัติ ดูจากรูปในเมนูแล้ว คิดทันทีเลยว่า เมนูนี้ไม่อ้วนแน่นอน! เลยลองสั่งมา พอได้ลองชิมแล้ว อร่อยดี เลยนั่งจินตนาการเดาเอาว่าเค้าใส่อะไรบ้าง และเมื่อถึงฤดูกาลที่เหมาะสมกับการปลูกแตงกวาและผักชี อาหารจานนี้จะต้องเป็นหนึ่งในเมนูที่ทำเองกินเองอย่างสม่ำเสมอ

วัตถุดิบ

แตงกวาอ่อน, พริกชี้ฟ้าสีแดง (หรือพริกที่ไม่เผ็ดร้อนมากนัก), ผักชีจีน, กระเทียม, เครื่องปรุง, น้ำมันงา, ซีอิ๊วขาว

วิธีทำ

1. เตรียมผัก นำแตงกวามาล้างทั้งเปลือก แล้วตัดหัวท้าย แช่น้ำเย็น พร้อมผักชี

2. หั่นพริกชี้ฟ้าเป็นเส้นบางๆ มีเมล็ดติดนิดหน่อยพอมีรสเผ็ด

3. สับกระเทียมเล็กน้อย อาศัยรสฉุน คลุกกระเทียมและใส่พริกลงในน้ำมันงา เติมซีอิ๊วขาวแล้วชิมให้มีรสชาติเค็มนิดๆ เผ็ดหน่อยๆ แต่อย่าลืมจินตนาการด้วยว่า แตงกวาออร์แกนิคของเรา มีรสหวาน จึงต้องปรุงรสจัดขึ้นอีกนิดเผื่อไว้

4. หลังจากปรุงได้ที่ หันกลับมาหั่นแตงกวาและผักชี เป็นท่อนพอดีคำ รีบคลุกเคล้าอย่างรวดเร็วเบามือ ไม่ให้แตงกวาสูญเสียความเย็นและช้ำ ตามด้วยโรยผักชี และพริกชี้ฟ้าซอยให้ดูมีสีสัน หากมีงาขาวคั่วหอมๆ โรยด้วยน่าจะอร่อยยิ่งขึ้น แต่ถ้าไม่มี เราไม่จำเป็นต้องโรยก็ได้




ครั้งแรกที่ทำเมนูนี้ นุ๋นเสิร์ฟให้หญิงสาวชาวเบลเยี่ยมที่ขอให้ช่วยทำเมนูมังสวิรัติ เลยลองด้นสดเมนูนี้ดู สรุปว่าปัง! ฝรั่งให้ผ่านเลยนับเป็นหนึ่งเมนูในดวงใจของนุ๋น และถ้าได้กินกับข้าวมันไก่ น่าจะอร่อยสุดๆ ไปเลย

ฤดูกาลที่เหมาะสมการปลูก

แตงกวา = กรกฎาคม-พฤศจิกายน

และผักชี = พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์

แตงกวาและผักชี เราปลูกเองและเก็บเมล็ดพันธุ์เองทุกปี เป็นสัญญามั่นหมายระหว่างตัวเองกับธนาคารเมล็ดพันธุ์ส่วนตัวที่เริ่มต้นเพียงอาศัยมุมเล็กๆในตู้เย็นของแม่จนตอนนี้กินอาณาเขตเป็น 1 ชั้นที่เต็มไปด้วยเมล็ดพันธุ์พืชนานาชนิด ที่ทุกปีเราจะต้องนำเมล็ดพันธุ์ชนิดต่างๆ ออกมาชุบชีวิตตามฤดูกาลที่เหมาะสม ปลูก เก็บ กิน เก็บเมล็ดรุ่นต่อไป ทำให้ยิ่งนานปียิ่งปลูกง่ายขึ้น เพราะเมล็ดพันธุ์ผักได้พัฒนาพันธุกรรมตนเองอย่างช้าๆ ในทุกปี ตามธรรมชาติให้เหมาะสมกับสภาพอากาศของสวนเรา เมื่อเราเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ในช่วงเวลาที่เหมาะสมและดูแลอย่างดี จึงไม่จำเป็นต้องคลุกสารเคมีกันเชื้อรา เมล็ดผักชีบ้านเราไม่มีสีชมพู แบบท้องตลาดทั่วไป นอกจากจะมีผักชีไว้ทำยำเสฉวนแล้ว ยังมีลูกผักชีไว้เป็นเครื่องเทศในอาหารเมนูอื่นได้อีกด้วย

อย่าลืมติดตามอีก 2 เมนูสำหรับสายเผือก และคนรักขนุน ในบทความ ‘3 จานของขนุน ที่รอเวลาเติบโตของวัตถุดิบ (ตอนจบ)’ วันจันทร์หน้านะคะ




 


ผู้เขียน

นุ๋น - ณัฐคนางค์ ปรีชาบริสุทธิ์กุล

เกษตรกร / ผู้ผลิตอาหารปลอดภัย / ผู้ผลิตแชมพูและสบู่ธรรมชาติ / วิทยากรด้านการพึ่งพาตนเอง


21 views

Comments


bottom of page