Aug 22, 2019

ตลาดทางเลือกและทางรอด (ตอนจบ)

เราเองเป็นหนึ่งในกลุ่มเกษตรกรคนรุ่นใหม่ที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์ เรากับเพื่อนๆ ได้มารู้จักและพบกันในสังคมออนไลน์ ในบางครั้งพวกเรามีกิจกรรมนัดหมายออกไปเรียนรู้ที่มาอาหารจากสวนบ้านเพื่อนในเครือข่ายที่รู้หน้ากัน เพื่อเพิ่มระดับความรู้ใจ จนเมื่อมีผลผลิตก็สามารถสั่งซื้อผลผลิตผ่านช่องทางแชตแมสเสจของเฟสบุ๊คได้จัดการส่งโดยบริษัทขนส่งทั่วไปไม่ต้องเดินทางไกลมาส่งเอง โดยเราวางใจได้ว่าไม่มีสินค้าจากที่อื่นปะปน เพราะผู้ผลิตและผู้บริโภคได้มีความเป็น “เพื่อน” กันแล้ว รสชาติอร่อยละเมียดละไมของสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้ลิ้มรสหลังเปิดกล่องพัสดุออกมาทำให้พวกเรามักจะเผลอสื่อสารข้อความแห่งความสุขความประทับใจของการกินอาหารเหล่านี้บนโลกออนไลน์เป็นระยะ จนเกิดการขยายตัวของความต้องการ สินค้าอาหารปลอดภัยในกลุ่มเพื่อน แล้วทำให้พวกเรา มารวมกลุ่มจัด “ตลาดทางเลือก” เป็นอีกหนึ่งช่องทางให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อสินค้าปลอดภัยอย่างมั่นใจได้ ตลาดนี้มีชื่อว่า “ปันอยู่ปันกิน” : กินอยู่อย่างรู้ที่มา กินอยู่อย่างรู้หน้ารู้ใจ กินอยู่อย่างมีความหมาย กินอยู่อย่างไม่ดูดายสิ่งแวดล้อม

กินอยู่อย่างรู้ที่มา ... น่าสนใจว่าก่อนผู้ผลิตจะมาขายสินค้าในตลาดทางเลือกแห่งนี้ได้นั้น ต้องผ่านขั้นตอนการคัดสรรอย่างละเอียดถี่ถ้วน ตลาดของพวกเรามีมาตรฐานสินค้า 6 หมวดครอบคลุมการอุปโภคบริโภค ได้แก่ หมวดผลผลิตเกษตรเชิงนิเวศ หมวดปศุสัตว์สบายใจ หมวดสัตว์น้ำอินทรีย์ หมวดอาหารแปรรูปปลอดภัย หมวดเครื่องสำอางค์ปลอดภัย และหมวดการค้าที่เป็นธรรม ผู้ผลิตหรือพ่อค้าแม่ค้าต้องเขียนใบสมัครแจ้งรายละเอียดให้ทีมงานของตลาดทราบว่า สินค้าที่จะนำมาขายมีที่มาการผลิตอย่างไร เริ่มตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว ขนส่ง ไปจนถึงแปรรูปที่ถูกสุขลักษณะ เพียงการบอกเล่าด้วยปากกาบนหน้ากระดาษอาจจะยังไม่พอ พวกเราจำเป็นต้องขอไปตรวจเยี่ยมสถานที่ผลิตจริง เพื่อให้มั่นใจได้ว่า พวกเราได้ “ช่วยกัน” ทำหน้าที่คัดสรร ของที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน มาให้ผู้บริโภค ผู้ที่ทำหน้าที่คัดสรรนั้นเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ผลิตสินค้าในรูปแบบเดียวกันมาพิจารณาร่วมกัน.. ฟาร์ม สวน ไร่ ห้องครัวบ้านใครที่ผ่านการคัดสรรแล้ว พวกเราจะนำมาบอกเล่าสื่อสารผ่านหน้าเพจเฟสบุ๊คให้ผู้บริโภคได้ทราบที่มาถึงความปลอดภัยของอาหารเหล่านั้นก่อนที่จะสั่งซื้อ หรือ พรีออเดอร์

กินอยู่อย่างรู้หน้ารู้ใจ ... ถ้าหากยังไม่มั่นใจกับการสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ พวกเราอยากชวนผู้บริโภค ถือตะกร้า พกถุงผ้า มาเดินเล่น เที่ยวชมบรรยากาศของตลาดแห่งนี้ ในทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน ในตลาดบรรยากาศน่ารัก เคล้าคลอไปด้วยเสียงเพลงของนักดนตรี หากสนใจถามข้อมูลจากใครเป็นพิเศษก็ไม่ต้องเขินอาย สามารถพูดคุยกันได้แบบ “เพื่อนกัน” พ่อค้าแม่ค้าบางคนเป็นเจ้าของแปลงเพาะปลูกหรือฟาร์มเลี้ยงสัตว์ บางคนเป็นนักแปรรูป ใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรที่ปันอยู่ปันกินคัดสรรแล้วมาแปรรูปอาหารเหล่านั้นอย่างประณีต ได้ผลผลัพธ์ความอร่อยและปลอดภัยต่างจากอาหารแปรรูปตามร้านค้าแฟรนไชส์ และถ้าสนใจจะลิ้มลองอาหารร้านไหนก็สามารถหยิบยื่นภาชนะพกพาของตัวเองให้กับพ่อค้าแม่ค้าได้เลย บางคนทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงผัก ผลไม้ ข้าว เนื้อสัตว์ ที่ได้มาจากแหล่งผลิตต่างภูมิภาคที่ห่างไกลออกไปเข้ามาสู่ผู้บริโภคในเมือง บางคนผลิตสบู่และแชมพูที่ไม่มีสารเคมี ที่น่าสนใจคือรีฟิลใส่ขวดที่เตรียมมาเองได้

กินอยู่อย่างมีความหมาย ... ไม่ใช่แค่การมาค้าขายผลผลิตปลอดภัยจากสวน ฟาร์ม ไร่อย่างไม่เป็นทางการ พวกเราร่วมกัน สร้างสรรค์สังคมแบ่งปัน ร่วมกันสืบทอดแนวความคิด ที่เป็นมิตรกับโลกใบนี้ ทั้งวิถีการพึ่งพาตนเอง และการหาอยู่หากินที่ไม่เอาเปรียบจากธรรมชาติ ตราบใดที่คุณพ่อคุณแม่นักบริโภคอาหารปลอดภัยเดินจูงลูกสาวลูกชายมาเลือกซื้อสินค้าที่ตลาดเป็นประจำ ก็เท่ากับพวกเราได้ร่วมกันหย่อนเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณค่าให้งอกงามและเติบโตในมนุษย์รุ่นต่อไป พื้นที่แบ่งปันอาหารและความคิดของพวกเราแห่งนี้มีฉากหน้าเป็นตลาดสดปราศจากสารเคมี ฉากหลังเป็นแปลงเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน ที่มีทั้งแปลงผัก กองปุ๋ยหมัก เล้าเป็ด เล้าไก่ และต้นไม้ขนาดใหญ่เป็นร่มเงาคลุมทางเดิน เชื้อเชิญให้ทุกคนเข้าไปสัมผัสเยี่ยมชม

กินอยู่อย่างไม่ดูดายสิ่งแวดล้อม ... มะพร้าวน้ำหอมที่ตั้งขายอยู่หน้าตลาด เมื่อถูกดูดผ่านหลอดต้นอ้ออย่างเพลิดเพลินจนเหลือแต่กะลามะพร้าว พวกเราอยากชวนให้ผู้บริโภคถือเอาไปโยนทิ้งตรงกองหมักปุ๋ยในสวน จากกะลามะพร้าวเปลือกหนาจะเปลี่ยนแปลงรูปร่างกลับไปกลายเป็นฮิวมัสสีดำมีเนื้อสัมผัสนุ่มลื่นที่เป็นอาหาร อันโอชะของจุลินทรีย์ในดิน เช่นเดียวกับเศษอาหารในทุกจาน และกิ่งก้านของพืชผลที่เราไม่ได้กินทุกชิ้นนำไปทำปุ๋ยได้หมด แต่ถุงพลาสติกย่อยสลายไม่ได้ พวกเราขอให้ทิ้งในตะกร้าแยกขยะที่จัดไว้ น่าสนใจที่ว่าหลังตลาดวาย ขยะพลาสติกและความสกปรกในพื้นที่มีน้อยกว่าตลาดสดทั่วไป นั่นหมายถึงการซึมซับแนวคิดที่พวกเราร่วมกันรณรงค์และร่วมกันลงมือทำนั้นเกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ไม่ยาก แต่อย่างไรก็ตามพลาสติกก็ยังมีประโยชน์กับมนุษย์ยุคปัจจุบันอย่างแยกขาดออกจากกันไม่ได้ การแยกขยะที่ตลาดแห่งนี้จะทำให้พลาสติกถูกนำไปสู่จุดรับซื้อขยะเพื่อรีไซเคิล หาใช่ปลายทางเป็นทะเล

และตอนนี้เราก็ได้เวลานั่งจัดเรียงถุงพลาสติกรียูส กล่องบรรจุไข่ทั้งแบบพลาสติกและกระดาษที่ผู้บริโภคชอบนำกลับมาฝากไว้ให้ใช้อีกครั้ง การเปิดรับพรีออเดอร์สินค้ากำลังจะเริ่มขึ้นอีกรอบ และเราเองก็เตรียมเช็คตู้เย็นที่บ้านเพื่อกักตุนวัตถุดิบปลอดภัยไว้บริโภครายเดือน จากประสบการณ์ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า วัตถุดิบประเภทเนื้อสัตว์ ที่ได้ตามมาตรฐานของปันอยู่ปันกินนั้น สามารถเก็บรักษาสภาพไว้ในช่องฟรีซได้เกินกว่า 3 เดือน ส่วนพืชผักออร์แกนิกประเภทผักใบ เก็บรักษาในตู้เย็นได้นาน 2 สัปดาห์ พืชหัว เช่น แครอท บีทรูท 3 เดือน ส่วนผลไม้นั้นระยะการเก็บรักษาในตู้เย็นขึ้นกับชนิดของผลไม้ แต่ทุกประเภทของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ที่มาจากการคัดสรรของตลาดปันอยู่ปันกิน มีระยะเวลาเก็บรักษาได้นานกว่าไปซื้อหาจากตลาดสดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าค่าไฟฟ้าสำหรับตู้เย็นสต็อกอาหารที่จับจ่ายเป็นรายเดือนอาจจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ค่าเดินทางไปตลาดสดอย่างบ่อยครั้งเหมือนแต่ก่อนก็ลดน้อยลง ได้สุขภาพที่ดีขึ้นและได้กินอาหารอร่อยๆ ฝีมือตัวเองด้วย นับว่าเป็นความคุ้มค่าสำหรับการเปลี่ยนแปลงของชีวิต เพียงแค่วางแผนล่วงหน้าและติดตามข่าวสารของตลาดทางเลือกของพวกเราอย่างต่อเนื่อง พวกเราหวังว่าผู้บริโภคทุกท่านที่ต้องการเข้าถึงอาหารปลอดภัยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแบบไม่หลงทิศทางของการดูแลสุขภาพ สุขภาพที่ดีเริ่มจากอาหารที่ไม่มีสารเคมี สัดส่วนการกินที่ดีจะทำให้ไม่อ้วน ไม่ขาดสารอาหาร และถ้าคุณเคยเป็นคนที่ไม่ชอบทำอาหาร เมื่อได้ลองเข้าครัวซักครั้งพร้อมวัตถุดิบจากพวกเรา คุณจะค้นพบความสามารถด้านการทำอาหารที่แอบแฝงอยู่ในตัวคุณ เช่นเดียวกันกับเรา.. หยิบกระเป๋า พกตะกร้า มาหาพวกเรานะคะ


ผู้เขียน

นุ๋น - ณัฐคนางค์ ปรีชาบริสุทธิ์กุล

เกษตรกร / ผู้ผลิตอาหารปลอดภัย /
 
ผู้ผลิตแชมพูและสบู่ธรรมชาติ / วิทยากรด้านการพึ่งพาตนเอง

56
3