Sep 26, 2019

เปิดใจ : Believe

พูดถึงเรื่องราวของผู้บริโภคและพ่อค้าคนกลางไปแล้ว ที่จะขาดไม่ได้เลยคือเรื่องราวของเกษตรกร OPEN MIND PROJECT ตอน BELIEVE มาในโทนหนังรักอบอุ่นที่ไม่ใช่ความรักของหนุ่มสาว แต่เป็นความรักในการทำการเกษตรของสองตัวละครหลัก ‘นัท’ รับบทโดย ณัฏฐ์ กิจจริต ช่างภาพจากเรื่อง LOST ที่เดินทางกลับมาอยู่บ้านต่างจังหวัด และ ‘บุญปลูก’ รับบทโดย วรางคนาง วุฑฒยากร สาวชาวไร่เพื่อนสมัยเด็กของนัท

ความรักในการทำการเกษตรของ BELIEVE ถูกตีความและถ่ายทอดโดยผู้กำกับ สรนิตย์ สังข์มงคล ให้เป็นความรักและใส่ใจที่จะทำให้พืชผลเติบโตอย่างปลอดภัย ปลอดสารพิษ นั่นก็คือการทำเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ใส่สารเคมีเข้าไปในดิน น้ำ อากาศ ไม่สร้างผลกระทบที่จะย้อนกลับมาทำร้ายโลกและมนุษย์ จุดเริ่มต้นที่นัทกลับมาบ้านต่างจังหวัดเพราะพ่อของเขาป่วยเนื่องจากสารเคมีที่ฉีดพ่นให้พืชผักทุกวันมันเข้ามาสะสมอยู่ในร่างกาย ประเด็นนี้เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เราเห็นผ่านข่าวหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยครั้ง กับเรื่องการเสียชีวิตของเกษตรกรที่เป็นผลมาจากสารเคมี ทั้งที่มาจากละอองในอากาศเวลาฉีดพ่น หรือจากการซึมเข้าสู่ผิวหนังโดยตรง เคยได้ยินข่าวน่าสะเทือนใจของเกษตรกรรายหนึ่ง เขาแบกเครื่องพ่นสารเคมีขึ้นหลัง ปัญหาคือสารเคมีเกิดรั่วออกมาถูกผิวหนัง และซึมต่อเข้าไปในกระแสเลือดจนถึงแก่ชีวิต

น่าเศร้าที่หลายๆ พื้นที่ในประเทศไทย เกษตรกรไม่รับประทานพืชผักที่ตนเองเป็นคนปลูก เพราะรู้ดีว่ามันมีสารเคมีสะสมและอันตราย..

สิ่งเหล่านี้สาเหตุเกิดจากอะไร

เมื่อถามถึงสาเหตุก็ต้องมองย้อนกลับมาที่ตัวเราเอง เพราะผู้บริโภคเองไม่ใช่หรือที่อยากเลือกรับประทานแต่พืชผักหน้าตาสวยงาม เพราะผู้บริโภคเองไม่ใช่หรือที่ต้องการผักหลากหลายชนิดทุกฤดูกาล ในโลกของเกษตรอินทรีย์มันไม่มีหรอกผักที่จะสวยงามและผลิดอกออกผลทุกฤดูกาลตามที่อยากรับประทาน ผู้บริโภคต้องเข้าใจ พ่อค้าคนกลางต้องเข้าใจ ถ้าอยากได้พืชผักที่ปลอดภัยก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงนี้ ยอมจ่ายแพงอีกนิดกับราคาผักปลอดสารพิษที่สูงกว่า.. เพราะอะไร เพราะกว่าจะปลูกออกมาได้ เกษตรกรต้องทนรับความเสี่ยงที่มากขึ้นจากพืชผลเสียหายเพราะแมลงร้ายศัตรูพืช การไม่ใช้สารเคมีเร่งดอกเร่งผลก็ทำให้ได้ผลผลิตช้าลง แต่ก็เป็นช้าที่ปลอดภัยมั่นใจได้

เคยลงพื้นที่พูดคุยกับเกษตรกรหลายๆ คน เรื่องน่าสนใจคือเขาบอกว่าเมื่อก่อนตอนใช้สารเคมีเขาไม่กล้ารับประทานพืชผักที่ตนเองปลูกกันหรอก แต่ทุกวันนี้พอหันมาทำเกษตรอินทรีย์ สิ่งที่ได้กลับมาคือความมั่นใจ ความปลอดภัย เขากล้ารับประทานของที่ตนเองปลูก กล้าส่งต่อผลิตผลที่ดีให้ผู้บริโภคอย่างภาคภูมิใจ ถึงราคาจะสูงหน่อย แต่เกษตรกรเองก็พยายามหาทางทำให้มันเป็นราคาที่ผู้บริโภคยังรับได้ เกษตรกรรุ่นใหม่หันมาใช้เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรง เพื่อลดการเพิ่มของราคาเวลาผ่านพ่อค้าคนกลาง

‘เพราะเทคโนโลยีถ้านำมาใช้ให้ดีก็มีประโยชน์’

นี่คือประโยคที่นัทพูดกับบุญปลูกในซีรีส์ OPEN MIND PROJECT ตอน BELIEVE บุญปลูกคือหญิงสาวที่มีความหวาดระแวงต่อเทคโนโลยี ส่วนนัทนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขายผลผลิตให้ผู้บริโภค สร้างกำลังใจให้เกษตรกรรายอื่นในชุมชนเห็นว่าของอินทรีย์มันขายได้จริง เมื่อเกษตรกรมีกำลังใจก็พร้อมที่จะปลูกพืชอินทรีย์ให้เรารับประทานกันอย่างปลอดภัย

ไม่มีใครหรอกที่อยากจะใส่สารเคมีทำร้ายคนอื่นทางอ้อม คุณว่าจริงไหมล่ะ

OPEN MIND PROJECT - BELIEVE


ผู้เขียน

ปารณีย์ เลิศวัฒนาสมบัติ

นักเขียนอิสระ

33
1